ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สกสว. จัดประชุม STO Forum วางเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2566 ร่วมกับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ

สกสว. จัดประชุม STO Forum วางเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2566 ร่วมกับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุม Science and Technology Organization Forum (STO Forum 8)” ครั้งที่ 1/2566 โดยเชิญผู้บริหารหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยจำนวน 12 หน่วยงานที่สังกัดกระทรวง อว. ร่วมรับฟังและให้ความเห็น สรุปการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. ที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงาน STOs โดย ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. และ ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสุชาติ  หัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สกสว.ได้ จัดประชุม STO Forum มาอย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 8 เพื่อหารือร่วมกับหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ที่จะช่วยกันมองไปข้างหน้า พร้อมกับกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดย สกสว. จะเก็บเกี่ยวรวบรวมทุกความคิดเห็นนำไปพิจารณาและดำเนินการให้คล้องกับยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี 2566 – 2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดด โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ต่อไป

ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. กล่าวถึงผลสรุปการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ผ่านมาว่า สกสว.ได้ดำเนินการจัดประชุม STO Forum เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระหว่าง สกสว.และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยความเห็นของที่ประชุมนำไปสู่จุดมุ่งเน้นในด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดทำแผนด้าน ววน. ของ สกสว. ที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ให้ใช้ดำเนินการประกอบการจัดสรรงบประมาณในปี 2566-2570  รวมทั้งข้อเสนอแนะจากที่ประชุมเกี่ยวกับข้อจำกัดของการใช้งบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน Fundamental Fund  (FF)  ในหน่วยงานต่างๆ ที่ทาง สกสว. ได้เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) จนกระทั่งสามารถปลดล๊อคกรอบงบประมาณค่าใช้จ่ายหมวดครุภัณฑ์ เป็นไม่เกิน 20 % ของงบประมาณรวมของหน่วยงาน จากเดิมที่ไม่เกิน 10% ของงบประมาณรวมของหน่วยงาน  นอกจากนั้นยังได้เสนอให้ที่ประชุมได้เห็นความสำคัญของการติดตามประเมินผลเพื่อการเบิกจ่ายงวดเงินงบประมาณ การตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) และการร่วมนำส่งผลงานเด่นของหน่วยงาน เพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานโดยการสนับสนุนของกองทุน ววน. ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณาการจัดสรรงบประมาณของสำนักงบประมาณ และการพิจารณาคำของบประมาณของกองทุน ววน. โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี (สภาผู้แทนราษฎร) ที่ สกสว.จะนำไปดำเนินการต่อไป ในส่วนนี้ จำเป็นต้องขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ช่วยสื่อสารถึงผลงานของกองทุน ววน. ด้วย เพื่อให้ภาคการเมืองได้ตระหนัก และ เห็นความสำคัญต่อการจัดสรรงบประมาณ เพื่อลงทุนด้าน ววน.

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสุชาติ กล่าวถึงโครงการการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ ว่า เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก โดยการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานตัวชี้วัดของความสำเร็จ Benchmark Parameters การสร้าง Metrices ที่จะนำไปสู่การยกระดับสถาบันกลุ่มต่างๆ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการออกแบบกลไกให้สถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพันธกิจและเป้าหมายของหน่วยงานที่จะนำไปสู่การยกระดับให้เทียบเคียงกับระดับนานาชาติ ทั้งในส่วนของการเปรียบเทียบผลลัพธ์ (Result Benchmarking) การดำเนินการหรือการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับองค์กรอื่น ที่เป็นทั้งคู่แข่งและที่ไม่ใช่คู่แข่ง เช่น ร้อยละของผลผลิตเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทั้งที่เป็นต้นทุนและผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้หาช่องว่าง ประสิทธิภาพ ระหว่างองค์กรของตนเองและคู่แข่ง และ Practice Benchmarking เกี่ยวกับการรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับวิธีที่กิจกรรมถูกจัดการผ่านคน, กระบวนการ และเทคโนโลยี ว่าต้องการอะไร ได้อะไร เพื่อนำมาปรับปรุงองค์กรของตนเอง โดยทั้งหมดนี้ตนในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย และ สกสว. จะนำข้อคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมในวันนี้ไปปรับผลการวิเคราะห์และข้อสรุปจากงานวิจัยเพื่อให้สามารถนำมาใช้ยกระดับการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของระบบ ววน. ต่อไป

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More