ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

CAAT NEWS ฉบับที่ 2 / 2566 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 CAAT จัดงานแถลงข่าว “ปลุกชีพจรอุตสาหกรรมการบินของไทย รองรับการฟื้นตัวกลับมาของอุตสาหกรรมการบินหลังวิกฤติ Covid-19”

CAAT NEWS ฉบับที่ 2 / 2566 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 CAAT จัดงานแถลงข่าว “ปลุกชีพจรอุตสาหกรรมการบินของไทย รองรับการฟื้นตัวกลับมาของอุตสาหกรรมการบินหลังวิกฤติ Covid-19”

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 17.00 น.

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 17.00 น. ณ โรงแรมเมอร์เคียว มักกะสัน นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เป็นประธานแถลงข่าว “ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ในรอบปีที่ผ่านมา และแถลงบทบาทหน้าที่ของ CAAT ในการกำกับดูแลและส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน เพื่อรองรับการฟื้นตัวกลับมาของอุตสาหกรรมการบินหลังวิกฤติ Covid-19 และแผนการดำเนินงานของ CAAT ระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีของรัฐบาล ปิดท้ายด้วยแนวคิดการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการใช้อากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน กรอบระยะเวลา 20 ปี เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานทุกมิติ ทั้งด้านการวิจัย พัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการการใช้งานโดรนในปัจจุบันและอนาคต โดยมีผู้บริหารของ CAAT และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ทั้งยังก่อให้เกิดรายได้จากการบริโภค การจ้างงาน การค้า และการลงทุน แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการบินของของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในปี 2564 ที่มีจำนวนผู้โดยสารเพียง 20,926,173 คน คิดเป็นร้อยละ 35.92 จากสถิติของปี 2563 และจำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ 257,948 เที่ยวบิน คิดเป็นร้อยละ 51.54 จากสถิติของปี 2563 โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2562 จำนวนผู้โดยสารในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 12.68 จากสถิติของปี 2562 และเที่ยวบินในปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 24.16 จากสถิติของปี 2562 ตามลำดับ  แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ สถานการณ์ด้านการบินก็กลับมาดีขึ้น โดยในปี 2565 มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,815,455 คน และเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 570,360 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจากทั่วโลกจะฟื้นตัวและกลับมาเท่ากับปี 2562 ในช่วงปี 2567 – 2568

CAAT ได้จัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี 2565-2568 ภายใต้กรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน” โดยในปี 2566-2567 เป็นการดำเนินการในระยะกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบินภายใต้ยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี ของ CAAT ตัวอย่างเช่น เป้าหมายของปี 2566 คือ สามารถออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพิ่มอีก 8 สนามบิน มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของสนามบิน (EMS) สามารถเข้ารับการตรวจประเมินจาก ICAO เพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศ

สำหรับการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการการใช้งานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือโดรน ปัจจุบันโดรนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตหลากหลายด้านและคาดการณ์บทบาทในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโดรนเพื่อความบันเทิง โดรนเพื่อกู้ภัย โดรนเพื่อการเกษตร โดรนเพื่อการขนส่ง เป็นต้น โดยเฉพาะโดรนเพื่อการเกษตร ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 มีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเพียง 328 ลำ และเพิ่มขึ้นเป็น 4,836 ลำในปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ CAAT จึงได้จัดทำแผนแม่บทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินเพื่อเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนระบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินที่ครอบคลุมทุกมิติ  ทั้งด้านห้วงอากาศ โครงสร้างพื้นฐานอากาศยาน สถาบันฝึกอบรม การซ่อมบำรุง เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและส่งเสริมให้กิจการอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) พร้อมเดินหน้าส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

CAAT News ฉบับที่ 2/2566 
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566
กองสื่อสารองค์กร

Read More

Credit ข่า : สำนักงานการบินพลเรือนแห่ง ประเทศไทย : https://www.caat.or.th/