ปลัด มท. เปิดการอบรมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 6 เน้นย้ำ นายอำเภอต้องเป็นผู้นำสร้าง Partnership ในพื้นที่ ด้วยการสร้างทีม และพบปะพูดคุยกับทีม
ปลัด มท. เปิดการอบรมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 6 เน้นย้ำ นายอำเภอต้องเป็นผู้นำสร้าง Partnership ในพื้นที่ ด้วยการสร้างทีม และพบปะพูดคุยกับทีมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ “ทำไมต้อง “CAST” ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 6 โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (วัชระ ภทฺทธมฺโม) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมรับฟัง โดยมี นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอ 112 อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,120 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลไปยังศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก สระบุรี ยะลา และชลบุรี
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการอำเภอ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หรือ CAST (Change Agent for Strategic Transformation) นั้น มีหัวใจสำคัญ คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จะสำเร็จได้ต้องเกิดจากการที่พวกเราชาวมหาดไทย มีทีมงานที่ดี แข็งแกร่ง โดยทีมงานที่ดีในที่นี้ หมายถึง ทีมงานของนายอำเภอในระดับพื้นที่ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยทีมงานที่เป็นทางการ หรือตามที่กฎหมายกำหนด นั้น ประกอบไปด้วย ทีมระดับอำเภอและตำบล และในส่วนของทีมที่ไม่เป็นทางการ หรือทีมจิตอาสา ประกอบไปด้วย 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาควิชาการ และภาคสื่อสารมวลชน ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีทีมงานที่ดีนั้น เนื่องจาก พวกเราข้าราชการชาวมหาดไทยทุกคนที่ทำงานร่วมกับประชาชน มีวาระการทำงานในตำแหน่งที่ค่อนข้างสั้น ด้วยสาเหตุอันเนื่องมาจากการโยกย้าย เกษียณ หรือสาเหตุอื่น ๆ ส่งผลให้โครงการหรืองานที่เคยดำเนินการไว้เกิดการหยุดชะงัก จากการที่มีการเปลี่ยนผู้รับผิดชอบ สิ่งนี้จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ข้าราชการชาวมหาดไทยต้องลุกขึ้นมา CAST หรือ สร้างการบูรณาการอย่างยั่งยืน ผ่านการสร้าง Partnership ที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อให้นายอำเภอที่เปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของอำเภอนั้น มีทีมงานในระดับพื้นที่ ที่สามารถขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ตอบรับกับเป้าหมาย SDGs ขององค์การสหประชาชาติ ในเป้าหมายที่ 17 การเสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“ทั้งนี้ โครงการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข นั้น นายอำเภอต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการ 2 ประเภท คือ 1. การบูรณาการในเรื่องของ “ทีม” และ 2. การบูรณาการในเรื่องของ “งาน” โดย การบูรณาการในเรื่องของ “ทีม” นั้น นายอำเภอต้องมีการพูดคุย พบปะ ระหว่างบุคลากรภายในทีมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนของทีมที่เป็นทางการและทีมที่ไม่เป็นทางการ เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเป็นเครื่องยืนยันว่า นายอำเภอ พร้อมที่จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนมาสู่พื้นที่ สร้างการบูรณาการร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ดังที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวไว้ว่า หากท่านเป็นนายอำเภอที่ดี ท่านก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในพื้นที่ที่ดีได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากนายอำเภอไม่มีทีมที่เข้มแข็ง และสำหรับในส่วนของ “งาน” นั้น เมื่อนายอำเภอมีทีมที่เข้มแข็งดังที่กล่าวไปข้างต้นได้แล้วนั้น ก็จะนำมาสู่การทำงานที่มาจากการร่วมมือกันของทุกฝ่ายในพื้นที่ ที่จะช่วยกันสอดส่องดูแล สร้างการพัฒนาร่วมกัน ก่อเกิดผลลัพธ์ที่ดีของการทำงาน เป็นไปตามพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในโอกาสที่กระทรวงมหาดไทยครบรอบ 100 ปี เมื่อวันพุธที่ 1 เมษายน 2535 ความว่า “…หน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย พูดอย่างรวบรัด คือ การอำนวยความสุขสวัสดีแก่ทวยราษฎร์ และการอำนวยความสุขสวัสดีที่ทำอยู่นั้น อาจจำแนกตามประเภทงานได้เป็น 4 ด้าน คือ การอำนวยความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การพัฒนาอาชีพและฐานะความเป็นอยู่ การพัฒนาจิตใจให้อยู่ร่วมกันได้ ด้วยความสุขและความสามัคคีปรองดอง และการให้การศึกษาเพื่อสร้างอนาคตที่แจ่มใส…” ซึ่งหากพวกเราชาวมหาดไทยสามารถบรรลุเป้าหมายของการทำงานนี้ได้นั้น ก็จะส่งผลให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข อย่างยั่งยืน” ปลัด มท. กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน จะสร้างแรงบันดาลใจ และ Passion ร่วมกันของทีมอำเภอ และ 7 ภาคีเครือข่าย ผ่านการเข้าร่วมอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยหลักสูตรการบรรยายโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงกิจกรรมภาคปฏิบัติที่จะช่วยฝึกฝนให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์และปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ร่วมกัน เสริมสร้างศักยภาพให้แก่นายอำเภอ และทีมภาคีเครือข่ายที่มาจากผู้แทนประชาชนในพื้นที่ ประสานพลังพื้นที่และชุมชน บูรณาการกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันที่อยากจะช่วยเหลือโลกใบนี้ เพื่อ Change for Good สร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น สอดคล้องตามหลักการทำงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” อันจะก่อให้เกิด การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
ที่มา
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More