ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยาน

ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) โดย นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารโรงพยาบาลศิริราช และสื่อมวลชนร่วมงาน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กระทรวงคมนาคมนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางให้เป็นแกนหลักของการเดินทางและการขนส่งของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาเมือง ตามแนวคิดการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และเป็นรูปแบบที่มีการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาในทุกมิติโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ และได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตามแนวเส้นทางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งต่าง ๆ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้เร่งรัดดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาระบบคมนาคมและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทาง Transit – Oriented Development หรือ TOD ซึ่งมีโครงการศึกษาการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดย SRTA ในฐานะบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟธนบุรีและสถานีรถไฟฟ้าศิริราช ให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และประโยชน์   แก่สาธารณชน ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีตามหลัก TOD นั้น อยู่ภายใต้กรรมสิทธิ์ของ รฟท. โดยพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นสถานีรถไฟธนุบรีแล้ว มีการใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวกับโรงพยาบาล ที่จอดรถ ตลาด และที่พักอาศัย และเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ตรงข้ามกับเกาะรัตนโกสินทร์ ติดกับโรงพยาบาล      ศิริราช จึงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง สามารถพัฒนาเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญทางฝั่งธนบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ SRTA จึงจัดทำโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี โดยมีแนวคิดการพัฒนา เพื่อยกระดับพื้นที่ให้เป็นเมืองแห่งการแพทย์ (Medical District) ที่สำคัญของภูมิภาค พร้อมกับสร้างสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้เป็นเมืองสีเขียว (Green Society) ด้วย สำหรับขอบเขตการดำเนินงานภายใต้  การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการศึกษาการจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรีกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในครั้งนี้จะมีคณะทำงานและกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดทำแผนแม่บทโครงการสถานีรถไฟธนบุรีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน เพื่อให้การจัดทำแผนแม่บทสำเร็จลุล่วงเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด โดยมีแนวทางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว 4 ด้าน ได้แก่
1. Connectivity Linkage เป็นการสนับสนุนโครงข่ายถนนและทางเดินที่มีการเชื่อมต่อในพื้นที่รอบโครงการกับสถานีรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะ
2. Green Environment สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ด้วยการใช้แนวความคิดพลังงานสะอาด สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3. Medical Complex สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาทางการแพทย์อย่างครบวงจรและศูนย์การเรียนรู้เพิ่มเติม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดย สร้างความร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช
4. Integrated Mixed Use Development สนับสนุนการพัฒนาสำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดย คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การจัดทําแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟธนบุรี เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และเมืองสีเขียว โดยคำนึงถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การพัฒนาบนหลักธรรมาภิบาล เป็นการพัฒนาที่ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางสู่โรงพยาบาล ศิริราชอย่างรวดเร็ว ประชาชนมีทางเลือกหลากหลายในการเดินทาง และทำให้พื้นที่โดยรอบสถานีเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตในทุกด้าน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ที่มา : 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More