รมว.แรงงาน ห่วงเหตุลูกจ้างตกต้นไม้พิการถูกลอยแพ สั่ง กสร. จับมือ สปส. สอบข้อเท็จจริงพร้อมเร่งช่วยเหลือตามสิทธิพึงได้
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวในรายการถกไม่เถียง ทางช่อง 7HD ในกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้าง
ใช้ให้ปีนขึ้นไปตัดต้นไม้ แต่พลาดท่า ตกลงมาขาหัก กลับถูกนายจ้างลอยแพไม่รับผิดชอบนั้น ทันทีที่ทราบข่าว ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมด้วยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้การช่วยเหลือลูกจ้าง
ให้ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างครบถ้วน
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้ นางชณิการ์ โกวะประดิษฐ์ ประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ส่งทีมเฉพาะกิจของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ลงพื้นที่เข้าตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม
กับนายจ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ลูกจ้างได้รับบาดเจ็บจากกรณีตกต้นไม้ และสถานที่ทำงานที่เกิดเหตุ ซึ่งประกอบกิจการขายอุปกรณ์ก่อสร้างและอุปกรณ์เครื่องจักรในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทราบว่า ลูกจ้างผู้ประสบเหตุชื่อ นายสมยศ เดชมณี อายุ 53 ปี เป็นลูกจ้างทำงานในหน้าที่ช่างไฟฟ้าและ
งานอื่น ๆ ตามคำสั่งนายจ้าง ได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท จ่ายค่าจ้างเดือนละ 2 ครั้ง ในวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ในวันที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ขณะที่กำลังทำงานให้นายจ้าง โดยได้ไปช่วยเพื่อนร่วมงานขึ้นไปตัดไม้ แต่พลาดท่า ตกลงมาด้านล่าง หลังกระแทกพื้น รู้สึกตัวดี ร่างกายไม่มีบาดแผล
แต่ไม่สามารถขยับร่างกายตั้งแต่คอถึงปลายเท้าได้ กู้ภัยมารับตัวนายสมยศฯ นำส่งโรงพยาบาลบางปะกอก 8 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม แพทย์ส่ง X-ray พบว่ากระดูกต้นคอแตกกดทับเส้นประสาท
นายสมยศฯ รักษาพยาบาลในห้องผู้ป่วยหนัก แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจ และย้ายไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ
รักษาเป็นผู้ป่วยในตั้งแต่วันที่ 6 – 26 พฤษภาคม 2565 รวมจำนวน 20 วัน ค่ารักษาพยาบาลใช้สิทธิประกันสังคม โดยมีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจำนวนรวมทั้งสิ้น 153,173 บาท แบ่งออกเป็นนายจ้างจ่ายค่าเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียม จำนวน 93,573 บาท นายสมยศฯ จ่ายส่วนเกินค่าห้องพิเศษ
และค่าผ้าอ้อมสำหรับผู้ป่วย จำนวน 59,600 บาท ปัจจุบันผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดการรักษาพยาบาล แพทย์นัดติดตามอาการต่อเนื่อง นับตั้งแต่นายสมยศฯ เกิดอุบัติเหตุ นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้เต็มตามจำนวน
เดือนละ 22,000 บาท โดยจ่ายให้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน (งวดละ 11,000 บาท) นายจ้างจ่ายให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมกราคม 2566 นายจ้างจ่ายค่าจ้าง
ให้นายสมยศฯ โดยจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเงิน 11,000 บาท แบ่งเป็น 2 งวด ๆ ละ 5,500 บาท
เนื่องจากนายจ้างตรวจสอบพบว่า ลูกจ้างมิได้ปฏิบัติตามที่แพทย์สั่ง คือ ลูกจ้างไม่ได้ไปทำกายภาพบำบัด
อย่างเคร่งครัด นายจ้างให้ข้อมูลว่า มิได้มีเจตนาที่จะทอดทิ้งลูกจ้าง และไม่เข้าใจการดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคม
จังหวัดสมุทรสาคร ได้ดำเนินการให้นายจ้างขึ้นทะเบียนนายจ้างและนำลูกจ้างขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน และนายจ้างยื่นแจ้งแบบการประสบอันตราย เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เพื่อลูกจ้างได้รับสิทธิ์กองทุนเงินทดแทน
ในวันเดียวกันทีมเฉพาะกิจของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงพื้นที่เยี่ยมลูกจ้าง ณ บ้านพักของ นายสมยศ เดชมณี
ย่านบางบอน กรุงเทพฯ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจพร้อมมอบกระเช้าของเยี่ยมและของใช้จำเป็น พร้อมชี้แจงสิทธิสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับเป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินประกาศ
ตามกฎกระทรวง ค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) ค่าหยุดงานตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ค่าทดแทน
ตามมาตรา 18 (2) ค่าสูญเสียอวัยวะ เมื่อสิ้นสุดการรักษาพยาบาลตามสัดส่วนที่สูญเสียอวัยวะ ทั้งนี้ นายสมยศฯ
ลูกจ้างยังไม่สิ้นสุดการรักษา ซึ่งสำนักงานฯ จะดำเนินช่วยเหลือในเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ครบถ้วนต่อไป
ด้าน นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของพนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร และ ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 7 (ราชบุรี) ร่วมกันตรวจสอบหาสาเหตุ โดยจะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย
และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ
และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในสถานที่ที่มีอันตราย
จากการตกจากที่สูงและที่ลาดชันจากวัสดุกระเด็น ตกหล่น และพังทลาย และจากการตกลงไปในภาชนะเก็บหรือรองรับวัสดุ พ.ศ.2564 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ หากพบว่านายจ้าง
ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา :
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More