สธ.ห่วงการตลาด “นมผง” ส่งผลแม่ 4 กลุ่มมีแนวโน้มใช้เลี้ยงลูกแทน “นมแม่” มากขึ้น
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลศึกษาพบ “แม่” ที่ได้รับการส่งเสริมการตลาดนมผง ทั้งจากบุคคลในครอบครัว เพื่อน และบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มชื่นชอบการใช้นมผงเลี้ยงลูกมากกว่านมแม่ โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ที่มีฐานะปานกลาง ยิ่งเคยมีประสบการณ์ใช้มาก่อน
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลศึกษาพบ “แม่” ที่ได้รับการส่งเสริมการตลาดนมผง ทั้งจากบุคคลในครอบครัว เพื่อน และบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มชื่นชอบการใช้นมผงเลี้ยงลูกมากกว่านมแม่ โดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ที่มีฐานะปานกลาง ยิ่งเคยมีประสบการณ์ใช้มาก่อนยิ่งมีแนวโน้มใช้ซ้ำ รวมถึงแม่ที่ต้องทำงานจะมีโอกาสป้อนนมผงลูกมากกว่า แนะบังคับใช้ กม.คุมการตลาดนมผงเข้มข้น ส่งเสริม รพ.สายสัมพันธ์แม่ลูก และขยายวันลาคลอด
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า “นมแม่ดีที่สุด” เพราะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ แนะนำให้เด็กทารกควรได้รับนมแม่ครั้งแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด และควรได้กินนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสมจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น แต่พบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เช่น การโฆษณา การลดราคา การที่บริษัทหรือตัวแทนติดต่อกับแม่โดยตรง เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่าการส่งเสริมการตลาดรูปแบบใดที่ส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมผง จึงมีผู้ทำการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และปัจจัยทางสังคมของแม่ กับการเลี้ยงลูกด้วยนมผง โดยมีการสำรวจการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก จากแม่จำนวน 330 คนในกรุงเทพมหานคร
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า ผลการสำรวจ พบว่า แม่ที่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ เช่น บุคคลในครอบครัว เพื่อน และบุคลากรทางการแพทย์ มีแนวโน้มที่จะมีทัศนคติที่ดีและชื่นชอบนมผงมากกว่าแม่ที่ไม่เคยได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับนมผงจากบุคคลอื่นๆ รวมถึงแม่ที่เป็นแม่เลี้ยงเดียว หรือแม่ที่มีฐานะครอบครัวปานกลางมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบนมผงมากกว่าเช่นกัน นอกจากนี้ แม่ที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล มีแนวโน้มที่จะใช้นมผงในการเลี้ยงลูกของตนเองมากกว่าแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือได้รับการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กในสถานพยาบาล ส่วนแม่ที่ต้องทำงานก็มีแนวโน้มที่จะป้อนนมผงให้ลูกมากกว่าแม่ที่ไม่ทำงาน
จากผลการศึกษาดังกล่าวจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ 1.กระทรวงสาธารณสุข ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 โดยการติดตามการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ทั้งช่องทางออนไลน์ หรือช่องทางอื่นๆ ทุกช่องทางอย่างสม่ำเสมอ และมีการตัดสินบังคับใช้บทลงโทษกับผู้ละเมิด พ.ร.บ.อย่างจริงจัง 2.สถานพยาบาลทุกแห่งทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องเป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (Baby-Friendly Hospital Initiative, BFHI) โดยอาจกำหนดให้เป็นเกณฑ์ในการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาล 3.ควรมีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน เช่น การขยายวันลาคลอดเป็น 6 เดือน หรือการพัฒนามุมหรือสถานที่สำหรับบีบ ปั๊ม เก็บน้ำนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ให้เป็นสวัสดิการตามกฎหมาย และ 4.การให้ความรู้กับแม่และครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ให้เข้าใจถึงประโยชน์ และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65456
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More