ปลัด มท. จับมือบิ๊กโจ๊ก บูรณาการทุกภาคส่วนประชุมขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) มุ่งแก้ไข ป้องกันปราบปราม
ปลัด มท. จับมือบิ๊กโจ๊ก บูรณาการทุกภาคส่วนประชุมขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) มุ่งแก้ไข ป้องกันปราบปราม ยกระดับศูนย์บูรณาการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหาย
ปลัด มท. จับมือบิ๊กโจ๊ก บูรณาการทุกภาคส่วนประชุมขับเคลื่อนแนวทางปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) มุ่งแก้ไข ป้องกันปราบปราม ยกระดับศูนย์บูรณาการคัดแยกเพื่อช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากปัญหาการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมราชบพิธ ชั้น 5 อาคารดำรงราชานุสรณ์ กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมชักซ้อมแนวทางการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 โดยมี พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายประวิทย์ ร้อยแก้ว รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง พันตำรวจเอก ณรงค์ เทศวิบูลย์ รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ คณะผู้แทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน Homeland Security Investigations (HSI) มูลนิธิ Operation Underground Railroad (O.U.R.) มูลนิธิเอ็มมานูเอล (IMF Thailand) และผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (VCS)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยได้กำหนดให้นโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป พร้อมทั้งขับเคลื่อนยกระดับแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติของไทย อันเป็นการส่งเสริมหลักมนุษยธรรมของคนในชาติ พร้อมทั้งได้สั่งการกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการพลังความร่วมมือร่วมกัน ทั้งฝ่ายปกครอง หน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ ทหาร กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเพื่อเสริมเกราะในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นเหยื่อจากปัญหาด้านการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานเป็นบุคคลชาติใดก็ตาม ถ้าเกิดปัญหาบนผืนแผ่นดินไทย ไทยก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการประชุมซักซ้อมแนวทางฯ ในวันนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการแก้ไข ป้องกัน ปราบปราม ปัญหาในทุกระดับ ตั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น อย่างพร้อมเพียงกัน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวอีกว่า การจะดำเนินงานเรื่องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ผลดี ไม่เพียงแต่การดำเนินงานของฝ่ายปกครองหรือฝ่ายความมั่นคงที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานเท่านั้น แต่ภาคีเครือข่ายด้านการข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคีเครือข่ายด้านการข่าวระดับพื้นที่เป็นกลไกที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในด้านการให้การสนับสนุน ดูแลสอดส่อง เพื่อช่วยกันสังเกตและรายงาน นำไปสู่การปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการสอดส่อง ดูแล ในพื้นที่ผ่านทางช่องทางสายด่วน 1567 และสายด่วน 191 เพื่อสื่อสารแจ้งเหตุ พร้อมทั้งสั่งการให้กรมการปกครอง ดำเนินการผลิตสื่อเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการสื่อสารประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้ “หอกระจายข่าว” รวมถึงทุกช่องทางสื่อสารดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของสถานประกอบการ โรงงาน ขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้อำนวยการให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานและฝ่ายปกครองในพื้นที่ ช่วยกันเอาใจใส่ดูแล ไปตรวจเยี่ยม สังเกตการณ์ ไปดูให้เห็นกับตา เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความคึกคัก ความทุ่มเทในการขับเคลื่อน และอีกส่วนที่สำคัญ คือ “โรงเรียน” โดยเฉพาะจังหวัด อำเภอ ที่มีโรงเรียนที่มีหอพัก ต้องหมั่นไปเยี่ยมเยียนและสอดส่องดูแล ลงไปพูดคุย ไปหารือกับท่านผู้บริหารสถาบันการศึกษาให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลลูกหลานให้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบมีมาตรฐาน ไม่ให้เกิดปัญหาการใช้กำลัง ความรุนแรง การกดขี่ ควบคู่ไปกับการตรวจติดตามในด้านอื่น ๆ
“ในส่วนของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยขั้นสูงสุด และดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาทางอาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างสูงสุด ดังนั้น พวกเราข้าราชการทุกคน ต้องเป็นต้นแบบอันดีงามในการประพฤติตนที่เหมาะสม ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือการใช้บังคับแรงงานที่ผิดกฎหมาย เฉกเช่นหัวใจของการประชุมในวันนี้ เพื่อคุ้มครองช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานที่ถูกกดขี่ผ่านการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในการปรับปรุงแก้ไข โดยมี “ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ” เป็นผู้นำในการดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเข้มข้นในการนำ “ทีมจังหวัด” “ทีมอำเภอ” ร่วมกันปลุกพลังสร้าง “ทีมตำบล” “ทีมหมู่บ้าน” ให้เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชนทั้งไทยและต่างชาติ ให้ได้รับโอกาสที่ดีในชีวิต สร้างสรรค์สิ่งที่ดี Change for good ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย ต่างมุ่งมั่นดำเนินงานอย่างเต็มกำลังร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 7 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคราชการ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคสื่อสารมวลชน ในการช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งสถานที่ และมีการดำเนินแนวทางการปฏิบัติอย่างเข้มงวด รวมถึงมีการซักซ้อมอย่างจริงจัง เพื่อให้ปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการหมดไป ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของกลไกการส่งต่อระดับชาตินี้ จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยเป็นกำลังสำคัญในการคงความดีนี้ไว้ต่อไป และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือและดำเนินงานร่วมกันอย่างเต็มที่ และเราจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นต่อเนื่อง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง สร้างความผาสุกให้กับสังคมไทย และโลกใบนี้อย่างยั่งยืน
พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนองคาพยพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการซักซ้อมแนวทาง NRM กับสถานีตำรวจทั้ง 1,484 แห่งครบทุกสถานี ในทุกกองบังคับการ และกองบัญชาการภาค ทั่วทั้งประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สตช. จะรับผิดชอบใน 3 เรื่อง คือ 1) การรับแจ้งเหตุ การเผชิญเหตุ 2) การคัดกรองเบื้องต้น และ 3) การคัดแยกเหยื่ออย่างละเอียด และการบริหารจัดการคดี เพื่อสนับสนุนบทบาทท่านผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
“ขอชื่นชม จังหวัดสตูล จังหวัดชุมพร และจังหวัดตาก ที่สามารถทำให้สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ และสามารถดูแลเหยื่อที่ได้รับความเสียหายจากการมนุษย์ที่สอดคล้องกับ NRM ทำให้วันนี้กลไก NRM ในประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ได้ดำเนินการอย่างครบกระบวนงาน และค่ำนี้จะเดินทางไปชี้แจงการค้ามนุษย์ให้กับทางสหรัฐอเมริกาทราบ โดยจะนำกลไกเหล่านี้ที่กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อน และมาตรการต่าง ๆ ไปชี้แจง โดยผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทำให้เราขยับอันดับจาก tier 2.5 เป็น tier 2 ซึ่งผลการปฏิบัติในปีนี้จะทำเรายังรักษาระดับได้ เพื่อปีหน้าจะไปสู่เป้าหมายขยับไปเป็น tier 1 ด้วยผลการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการคุ้มครองเหยื่อ การเยียวยา และการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงกลไก NRM” รอง ผบ.ตร. กล่าวในตอนท้าย
นายมานะ สิมมา ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ได้กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย สำหรับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะจากสหรัฐอเมริกา โดยให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาระบบการส่งต่อให้ดีขึ้น ซึ่งได้มีการเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีข้อสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การดำเนินการจัดหาสถานที่รองรับเพื่อคุ้มครองและคัดแยก ในการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสำหรับบุคคลที่อาจเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยศูนย์บูรณาการคัดแยกนั้น ต้องเป็นไปตามหลักการ คือ มีการแยกชาย หญิง และเพศทางเลือก โดยจัดให้มีปลัดอำเภอ เจ้าพนักงานปกครอง และสมาชิก อส.หญิง ดูแลพื้นที่ที่เป็นที่พักของแรงงานต่างด้านหญิง มีการจัดสมาชิก อส.ชายดูแลความปลอดภัยพื้นที่รอบนอก มีการปฏิบัติงานประจำวันตาม SOP หรือตามที่ทีมสหวิชาชีพกำหนด รวมถึงเข้มงวดกวดขันในการดำเนินงานที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน โดยในเบื้องต้น พร้อมทั้งได้มีการดำเนินงานโครงการยกระดับศูนย์บูรณาการคัดแยก 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1. จ.เชียงใหม่ 2. จ.ตาก 3. จ.กาญจนบุรี 4. จ.สมุทรสาคร 5. จ.ประจวบคีรีขันธ์ 6. จ.ระนอง 7. จ.สงขลา 8. จ.สระแก้ว 9. จ.หนองคาย และ 10. จ.อุบลราชธานี เพื่อเป็นรูปแบบมาตรฐานและเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีศูนย์บริหารครบทุก 76 จังหวัด และความก้าวหน้าในขณะนี้ ทุกจังหวัดได้เริ่มดำเนินการจัดตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยกตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ (NRM) เพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางที่กำหนดต่อไป
ที่มา
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More