สธ. เผย “โควิด” อาจพบติดเชื้อเพิ่มช่วงสงกรานต์/เปิดเทอม เน้นฉีดวัคซีน หรือ LAAB ส่วน “ไข้หวัดนก” ให้ยกระดับเฝ้าระวัง
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทยยังคงตัว ปี 2566 อาจพบการติดเชื้อสูงขึ้นช่วงสงกรานต์และเปิดเทอม ย้ำกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือฉีด LAAB รุกติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่อเนื่อง และเร่งทำนโยบายการฉีดวัคซีน
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ในไทยยังคงตัว ปี 2566 อาจพบการติดเชื้อสูงขึ้นช่วงสงกรานต์และเปิดเทอม ย้ำกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือฉีด LAAB รุกติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่อเนื่อง และเร่งทำนโยบายการฉีดวัคซีนและแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้า ส่วนโรคไข้หวัดนกได้ยกระดับการเฝ้าระวังในโรงพยาบาลและชุมชน กรณีพบผู้ป่วยทางเดินหายใจมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัย/สัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย หรือพบปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน พร้อมคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมาก
วันนี้ (27 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด 19 ลดลงทั้งแถบยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย สำหรับประเทศไทย ข้อมูลวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล 204 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 66 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 44 ราย และผู้เสียชีวิต 9 ราย แนวโน้มอยู่ในระดับคงตัว โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนเกิน 3 เดือน หรือไม่ได้ฉีดภูมิคุ้มกัน LAAB สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พบติดเชื้อโควิด 19 ประปราย ซึ่งศักยภาพด้านการแพทย์ยังรองรับได้ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าอาจจะพบการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงสงกรานต์และเปิดเทอมนี้ จึงเน้นการสื่อสารให้ประชาชนยังปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค คือ ฉีดวัคซีนโควิด 19 หรือฉีด LAAB หากมีอาการป่วยทางเดินหายใจให้ตรวจคัดกรองด้วย ATK และสวมหน้ากากขณะอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นส่วนผู้ป่วยกลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือ LAAB หากป่วยให้รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งให้สวมหน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ขนส่งสาธารณะ สำหรับเด็กเล็กแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการป่วยทางเดินหายใจ
“กระทรวงสาธารณสุขยังคงเฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างเข้มข้น โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการติดตามสถานการณ์ไวรัสและสายพันธุ์ต่างๆ ต่อเนื่อง ส่วนกรมควบคุมโรคได้จัดทำยุทธศาสตร์และนโยบายการฉีดวัคซีนในปีหน้า ขณะที่กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาสำหรับปีหน้าด้วยเช่นกัน ทั้งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยา เวชภัณฑ์ และการให้การรักษา” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกที่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตในประเทศกัมพูชา และให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคและคัดกรองผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในสถานพยาบาล เพิ่มการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในชุมชน โดยแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบและดำเนินการสอบสวนป้องกันควบคุมการระบาดของโรค กรณีที่พบผู้ป่วยทางเดินหายใจที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนก หรือสัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตาย หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่ระบาดภายใน 14 วัน หรือกรณีพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือพบผู้ป่วยปอดอักเสบเป็นกลุ่มก้อน และหากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุให้มีการคัดกรองผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ปีกป่วยตายด้วย รวมถึงขอให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนหรือจังหวัดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกจำนวนมาก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเพื่อซักซ้อมแผนการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสงสัยไข้หวัดนก หรือพบผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกในพื้นที่ พร้อมทั้งให้สื่อสารกับผู้เลี้ยงสัตว์ปีก หากพบสัตว์ปีกป่วยตายจำนวนมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ หน่วยงานปศุสัตว์ อสม. อาสาสมัครปศุสัตว์ ทันที และให้งดชำแหละหรือนำไปรับประทานแบบไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ
ที่มา :
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More