รมว.เฮ้ง สั่งลงดาบ เพจปลอมแอบอ้างใช้ “LOGO ราชการ” รับสมัครงานผ่านสื่อโซเชียล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เอาจริง เตือน เพจปลอมแอบอ้างใช้ “LOGO ราชการ” นำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ แนะคนหางานอย่าหลงเชื่อ เสี่ยงโดนรีดข้อมูลส่วนบุคคล และเสียทรัพย์
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีข้อสั่งการให้กรมการจัดหางาน เข้มงวดตรวจสอบเพจปลอมที่มีการนำตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ กรมการจัดหางาน ไปใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง เพื่อประกาศ รับสมัครงาน เช่น รับสมัครงานพนักงานเสริมแพ็คสินค้า รับสมัครคุณแม่ทำงาน WFH รับสมัครทำงานอิสระระยะยาว รับสมัครคนไทยไปทำงานต่างประเทศโดยอ้างว่าจัดส่งผ่านกรมการจัดหางาน เป็นต้น ซึ่งกรมการจัดหางานขอเตือนไปยังคนหางานว่าหากพบเห็นการชักชวนให้สมัครงานในตำแหน่งต่าง ๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ยูทูป เป็นต้น) ในลักษณะดังกล่าว โปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจถูกหลอกให้เสียค่าใช้จ่ายในการสมัครงานแต่ไม่มีงานรองรับ หรือหลอกลวงขอข้อมูลส่วนบุคคลและนำไปสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียง ทรัพย์สิน หรือนำไปสวมตัวตนสมัคร Application ทางการเงิน หรือแม้กระทั่งนำไปหลอกลวงผู้อื่นต่อ
“กรมการจัดหางาน มีชุดตรวจสอบ เฝ้าระวังและตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ช่องทางต่าง ๆ ที่โพสต์โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยด้วยวิธีผิดกฎหมาย โดยจะแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมายให้ถึงที่สุด ใน “ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ” ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่านอกจากเวรประจำวันซึ่งเป็นชุดเฝ้าระวังของกรมการจัดหางานแล้ว กรม ฯ ยังมีการประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดและนำข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ รวมทั้งการดำเนินการของฝ่ายกฎหมาย กรม ฯ ที่ส่งเรื่องดำเนินคดีไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 มีเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 5 เรื่อง โดยทันทีที่พบเห็นผู้มีพฤติการณ์หลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่กรมการจัดหางานได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์
ดังกล่าวทันที ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำก่อนตัดสินใจสมัครงาน วิธีการไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ช่องทางการตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย และแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงพฤติการณ์ของผู้ที่หลอกลวงลวงคนหางานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ป้องกันการถูกหลอกลวง
ทั้งนี้ หากพบเห็นประกาศเชิญชวนสมัครงานทางสื่อโซเชียล และไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้โพสต์ได้ เช่น ไม่มีรูปภาพจริงเจ้าของโพสต์ มีการนำตราของหน่วยงานราชการมาใช้ประกอบในการโพสต์เชิญชวน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ ซึ่งหากเป็นตำแหน่งงานในต่างประเทศ ต้องโพสต์โดยบริษัทหางาน ซึ่งขออนุญาตโฆษณารับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจากกรมการจัดหางานแล้วเท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถกระทำการได้ ซึ่งผู้ที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านเว็บไชต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือทาง Mobile Application “ไทยมีงานทำ” หรือติดตามข่าวสารของกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์กรมการจัด doe.go.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ที่มา : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/65509
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More