ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

DGA เปิดเวทีกลางเชื่อมโยง เสริมพลังข้อมูลเปิดภาครัฐ ระหว่าง รัฐ และ เอกชน ปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐ จัดงานวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2566

DGA เปิดเวทีกลางเชื่อมโยง เสริมพลังข้อมูลเปิดภาครัฐ ระหว่าง รัฐ และ เอกชน ปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐ จัดงานวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2566

สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ภายใต้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA  จัดงาน วันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้ หัวข้อ Unlock the Power of Open Data with Give and Take : ปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐ” Give คือการที่ภาครัฐเปิดให้ประชาชนเข้าถึงชุดข้อมูลเปิดภาครัฐได้โดยอิสระ Take คือการที่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำชุดข้อมูลเปิดไปต่อยอดสร้างแผนธุรกิจ การวิเคราะห์มิติข้อมูล และการสร้างนวัตกรรมจากข้อมูล โดยได้รับเกียรติจาก ดร. นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการ DGA กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐในครั้งนี้ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐชั้นนำและภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์บนเวทีเสวนาในช่วง 2 ช่วงเวลาสำคัญคือ

Give Session : ผู้ให้ ที่จะมาแนะนำชุดข้อมูลเปิดภาครัฐสำคัญ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและภาคธุรกิจ นำโดยแพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน คุณอภิสิทธิ์ สุขสาคร ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก.ล.ต. คุณปฏิภาณ อินหว่าง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

Take Session : ผู้รับนำไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐ รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) คุณสีหนาท ล่ำซำ CEO บริษัท Robinhood และ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO บริษัท Creden Data เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์ C Asean อาคาร ไทยเบฟ ควอเตอร์ กรุงเทพฯ

 

ดร. นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการ DGA กล่าวว่า “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” เป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐและการให้บริการสาธารณะ โดยมีเป้าหมายไปสู่การให้บริการอัจฉริยะ (Smart Service) ที่ขับเคลื่อนตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นของประชาชน (Citizen Driven) ให้ได้รับความพึงพอใจในการรับบริการจากภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานรัฐเองก็จะสามารถใช้งบประมาณการดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่าตรงตามเป้าหมาย สามารถสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ส่งผลให้มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้ไทยก้าวทันโลกและเท่าเทียมนานาประเทศได้

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวเพิ่มเติมว่า DGA มุ่งหวังว่างานในวันนี้จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐและเอกชน ให้เกิดความมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ข้อมูลภาครัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด และสามารถต่อยอดนวัตกรรมบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐและภาคประชาสังคมในการใช้งานบริการรัฐบาลดิจิทัลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น DGA ได้เล็งเห็นถึงพลังของข้อมูลจึงได้เดินหน้าจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ data.go.th เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันมียอดการเข้าใช้งานสะสมแล้วกว่า 3 ล้านคน มีชุดข้อมูลเปิดภาครัฐจำนวนเกือบ 8 พันชุดข้อมูล ซึ่งรวบรวมจากกว่า 200 หน่วยงาน โดยใน 1 ปีที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดกว่า 540,000 ครั้ง คิดเป็นกว่า 60% ของยอดสะสมทั้งหมดที่ราว 8 แสนครั้ง 

โดยมีการนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกดาวน์โหลดไปวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำเสนอหรือกำหนดนโยบายต่างๆ ข้อมูลตรวจสภาพอากาศรายวัน เป็นข้อมูลที่ผู้พัฒนานำไปใช้ในการตรวจสภาพฝุ่น เพื่อนำไปรายงาน หาสาเหตุ และวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา นอกจากนี้ก็มีข้อมูลพิกัด LAT/LONG ที่ตั้งตำบล เรียกว่าเป็นชุดข้อมูลพิกัดตั้งต้นในการพัฒนาระบบหรือ application ที่มีการระบุพิกัดสำหรับนักพัฒนาระบบที่ให้ความสนใจมาดาวน์โหลดไปใช้กันมาก และข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการอัปเดตทุกวันจากเจ้าของข้อมูล ทำให้ได้รับความสนใจและมียอดดาวน์โหลดเยอะที่สุดต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ข้อมูลเปิดภาครัฐ บนเว็บไซต์ data.go.th ได้รับความนิยมนำไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะข้อมูลเผยแพร่อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่สามารถแสดงตัวอย่างข้อมูล (Preview) แสดงข้อมูลด้วยภาพ (Visualization) และเอพีไอ (API) แบบอัตโนมัติให้กับชุดข้อมูลที่เผยแพร่ รวมทั้งยังสามารถจัดการชุดข้อมูลและเมทาดาตาของข้อมูลได้อีกด้วย

รับชม LIVE ย้อนหลัง คลิก

Read More

เครดิตข่าวจาก : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)