ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ครม. อนุมัติ ‘แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570’ ตั้งเป้ายกระดับ EGDI ประเทศไทยขึ้นอันดับที่ 40 DGA พร้อมเชื่อมภาครัฐไทยพัฒนา ‘บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน’

ครม. อนุมัติ ‘แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570’ ตั้งเป้ายกระดับ EGDI ประเทศไทยขึ้นอันดับที่ 40 DGA พร้อมเชื่อมภาครัฐไทยพัฒนา ‘บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน’

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA มุ่งมั่นพัฒนาบริการดิจิทัลสาธารณะของรัฐให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตามวิสัยทัศน์ “บริการภาครัฐสะดวก โปร่งใส ทันสมัย ตอบโจทย์ประชาชน” โดยสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการบริหารจัดการและการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่นคล่องตัว มีการบูรณาการแบบไร้รอยต่อ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

ล่าสุด ‘แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570’ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย DGA ได้นำเสนอตามมติคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานฯ และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาคณะกรรมการ โดยมีสาระสำคัญก้าวต่อไปของรัฐบาลดิจิทัลคือ การเป็นภาครัฐที่ปรับตัวทันการณ์ (Agile Government) ให้บริการที่ตอบสนองประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ (Responsive Government) เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจ (Enhance Competitiveness) และ โปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ประชาชนเชื่อถือและมีส่วนร่วม (Open Government and Trust) โดยมุ่งลดช่องว่างการเป็นรัฐบาลดิจิทัลลง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการใช้เทคโนโลยีในการสร้างระบบรวมศูนย์ การจัดเตรียม การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ฉบับนี้ จะเป็นเข็มทิศที่สำคัญในการบริหารงานภาครัฐและการจัดทำบริการสาธารณะด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลของหน่วยงานรัฐ ซึ่งพลังที่จะเร่งสปีดให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ตามเป้าหมายนั้นก็คือ บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านรัฐบาลดิจิทัลในทุกระดับต้องได้รับการพัฒนาให้มีทักษะด้านดิจิทัล มี Mindset สามารถปรับตัวได้ไวและเลือกใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างชาญฉลาด ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ด้วย

ด้าน นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศกำลังขับเคลื่อนตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนใน 10 ด้านสำคัญ คือ การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน สิ่งแวดล้อม การเกษตร การท่องเที่ยว การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs แรงงาน การยุติธรรม และการมีส่วนร่วม โปร่งใส และตรวจสอบได้ของประชาชน ดังนั้น ทุกหน่วยงานรัฐจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการจัดทำหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อการทำงานระหว่างกันและเกิดความต่อเนื่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยต่อไป  

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า DGA เราพร้อมที่จะเดินไปด้วยกันกับทุกภาคส่วน เพื่อให้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐเพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และขยายสู่หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาบริการที่สะดวกและเข้าถึงง่าย ยุทธศาสตร์ที่ 3 สร้างมูลค่าเพิ่มและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ จากโครงการความสำเร็จตามแผนรัฐบาลดิจิทัลฯ ในระยะที่ผ่านมา 

ตอกย้ำความมั่นใจว่า เมื่อประเทศมีความพร้อมก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลเต็มรูปแบบ จะสามารถสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายมิติให้แก่ ภาครัฐ จะเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้อย่างไร้รอยต่อ เจ้าหน้าที่รัฐก็จะมีทักษะการทำงานดิจิทัลที่สอดคล้องกับบริบทโลก สามารถให้บริการประชาชนได้สะดวกรวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบุคลากรภาครัฐผ่านการอบรมจากระบบ e-Learning และได้รับ e-Certificate รวมทั้งหมดแล้วกว่า 1 ล้านคน จาก 32 หลักสูตร บนเว็บไซต์ tdga.dga.or.th

ด้าน ประชาชน จะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาผ่านแพลตฟอร์ม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการของประชาชนอย่างบูรณาการบนแพลตฟอร์มเดียว และเฉพาะเจาะจงได้ ภาคธุรกิจ เองก็เข้าถึงการทำธุรกรรมกับรัฐ และข้อมูลการส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของรัฐได้สะดวกขึ้น ในส่วนของแรงงานก็ได้รับการพัฒนาทักษะและกำลังคนที่ตอบโจทย์ตลาด รวมถึงสามารถยกระดับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ผ่านระบบบริการรัฐด้านแรงงานครบวงจรได้ด้วย และด้าน สังคม เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานภาครัฐ ช่วยให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งยังยกระดับการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยการบูรณาการข้อมูลและช่องทางการสื่อสารอีกด้วย สำหรับประเทศไทยเองก็จะได้ประโยชน์จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนเป็นแรงผลักให้ไทยเราไปถึงเป้าหมายอันดับดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E – Government Development Index: EGDI) ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 40 ของโลกได้เร็วขึ้น

รับชมวีดิโอย้อนหลังคลิก

Read More

เครดิตข่าวจาก : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.)