นักธุรกิจยะลา วอนรัฐบาลเร่งพิจารณา ต่ออายุ โครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ soft loan หลังประสบปัญหาไม่สามารถใช้สิทธิ์ต่อได้ เชื่อส่งผลกระทบการลงทุนในพื้นที่ชายแดนใต้ ในขณะที่นายกเล็กเมืองยะลา หวั่นปัญหาลุกลามกลายเป็นวิกฤต “สึนามิเศรษฐกิจชายแดนใต้”
หลังจากที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กระทรวงการคลัง ทำการปรับปรุงหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ (soft loan) ของโครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ผู้ประกอบกิจการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ คือให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่ขอสินเชื่อโครงการ ต้องหาเงินมาเพื่อปิดบัญชีโครงการเก่า ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2565 โดยที่เรื่องดังกล่าวมิได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบเป็นการล่วงหน้า ซึ่งส่งผลก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายเก่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจำนวนมาก ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทางนายอิทธิพัทธ์ ศิริเสรีวัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา บอกว่า เนื่องจากมติ ครม.ที่ออกเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 มีมติว่า โครงการ Soft Loan สำหรับรายเดิมที่มีการกู้ตั้งแต่ปี 2561-2565 จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ต่อไปได้ ซึ่งมีผู้ประกอบการรายเดิมทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ ประมาณ 4,220 ราย อยู่ในวงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท จะไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการในปี 2566 ที่คาดว่าจะมีผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะผู้ประกอบการบางรายได้ลงทุนไปแล้ว แต่เมื่อมีการกำหนดคุณสมบัติเป็นเงื่อนไขกับผู้กู้ใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน จึงได้เข้าไปพบและพูดคุยกับทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทราบว่าทางคณะรัฐมนตรี จะมีการพิจารณากันในวันที่ 14 มีนาคม นี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้รับการพิจารณาที่จะช่วยเหลือ
“สิ่งที่ทุกคนมีความกังวลใจก็คือ เรื่องที่นำเสนอจะเกิดความล่าช้า และจะไม่ทันการพิจารณาในการเข้าประชุม ครม.ในวันที่ 14 มีนาคม นี้ ที่ต้องการความชัดเจน ว่าจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ซึ่งหากเกิดความล่าช้าในการพิจารณา จะทำให้ขาดความเชื่อมั่น ที่อาจจะพิจารณาลงทุน เลื่อนการลงทุน หรือเลิกการลงทุนไปเลย รวมทั้งหากการพิจารณาไม่ทันรัฐบาลนี้ หรือ มีการยุบสภาไปก่อน ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการจะได้รับความเดือดร้อน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบไปถึงการลงทุนด้านการเกษตรในพื้นที่ เช่น ทุเรียน ยางพารา ปาล์ม น้ำมัน เมื่อมีผู้มาลงทุนน้อย ผู้ประกอบการก็สต๊อกวัตถุดิบได้น้อยลง ก็ส่งผลกระทบถึงวัตถุดิบทางการเกษตรที่อาจจะมีการรับซื้อได้น้อยลง” ประธานอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา กล่าว
ส่วนทาง นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง ผู้ประกอบการ ยะลาพันธุ์สัตว์ฟาร์ม บอกว่า ที่ผ่านมาสินเชื่อ soft loan ที่ทางรัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเดินหน้าประคองตัวได้ ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ ทั้งสถานการณ์ความไม่สงบ และสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในการลงทุน ที่ทางผู้ประกอบการยังคงเดินหน้าทำธุรกิจในพื้นที่ โดยมีรัฐบาลคอยให้การช่วยเหลือ แต่ปัญหา soft loan ที่รัฐจะยกเลิกไปนั้น ถือเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่จะทำให้ไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้
ด้านนางไพริน ยกรัตน์ เจ้าของร้านโกไข่การไฟฟ้า บอกว่า ทุกวันนี้ที่สามารถยืนอยู่ได้ ก็มาจากรัฐที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ แต่วันนี้ทางรัฐมาตัดความช่วยเหลือ โดยไม่บอกกล่าวกันล่วงหน้า เพื่อให้ทางผู้ประกอบการได้เตรียมตัว ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการ หากมีการแจ้งล่วงหน้า ก็จะสามารถบริหารจัดการต่อยอดธุรกิจได้ไหมกับดอกเบี้ยปกติ ที่เดิมดอกเบี้ย 1.5 ก็ต่างจากดอกเบี้ยปกติอยู่แล้ว ก็อยากจะให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อไป
สำหรับทางด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา บอกว่า ในวันนี้วิกฤตการณ์ soft loan 1.5 เปอร์เซ็นต์ ที่ทางคณะรัฐมนตรีมีมติที่จะไม่ต่ออายุ สำหรับผู้ประกอบการที่ได้กู้เกินระยะเวลากว่า 5 ปี อีกทั้งยังปรับลดวงเงินเหลือ 20 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่า จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจต่าง ๆ ในพื้นที่เริ่มคลี่คลายขึ้น จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ดีขึ้น และจากสถานการณ์โควิด ที่เข้ามา ปัญหาที่รัฐบาลไม่ได้ต่อเงินกู้ Soft Loan ที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา ก็คงไม่แตกต่างจากสึนามิ ในทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่จะทำให้เศรษฐกิจต่างๆ กลับสู่วังวนเดิม เหมือนช่วงประสบเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งอาจจะทำให้สูญเสียเม็ดเงินมหาศาลที่ทางรัฐบาลทุ่มลงมาเพื่อพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเกิดภาวะสูญเปล่าไป
“ตนเชื่อว่าผู้ประกอบการเอง ก็ต้องลดต้นทุน ทำให้ส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงาน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางลงมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อยากขอความกรุณานายกรัฐมนตรี เป็นของขวัญให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้มีการทบทวนมติ ครม.และต่ออายุให้กับผู้ประกอบการ ที่มีอายุการกู้เกินกว่า 5 ปี แล้วค่อยมีการปรับลดก็ยังดีกว่าที่จะมีการตัดสิทธิ์จนเป็นศูนย์ ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ตั้งรับ ตั้งตัวไม่ทัน เพราะไม่ได้มีการเตรียมการล่วงหน้า” นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าว
ข้อมูล
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More