ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ปลัดมหาดไทย เปิดการอบรมทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 8 เน้นย้ำ “จุดแตกหักของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอยู่ที่หมู่บ้าน” นายอำเภอต้องสร้างทีมที่เข้มแข็ง

ปลัดมหาดไทย เปิดการอบรมทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 8 เน้นย้ำ “จุดแตกหักของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอยู่ที่หมู่บ้าน” นายอำเภอต้องสร้างทีมที่เข้มแข็ง

ปลัดมหาดไทย เปิดการอบรมทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 8 เน้นย้ำ “จุดแตกหักของการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขอยู่ที่หมู่บ้าน” นายอำเภอต้องสร้างทีมที่เข้มแข็ง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ขยายผลสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับประชาชน

 

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 66 เวลา 13.00 น. ที่ห้อง War Room อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “ทำไมต้อง CAST” ให้แก่ผู้รับการอบรมตามโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 8 โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ อาจารย์สุธร ศรีหิรัญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวมนทิรา เข็มทอง ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟัง โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายอำเภอ และภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เข้ารับการอบรมจาก 111 อำเภอ รวม 1,110 คน ร่วมรับฟังผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จำนวน 11 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก สระบุรี ยะลา และชลบุรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้จัดโครงการฝึกอบรม “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ในปี 2566 มาแล้ว 7 รุ่น จำนวน 765 อำเภอ โดยการอบรมในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 8 (รุ่นสุดท้าย) ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยทุกท่านมีความคาดหวังว่า ภาคีเครือข่ายของอำเภอที่เป็นผู้เข้ารับการอบรมภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ จะเป็นผู้นำการบูรณาการทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่อำเภอ ด้วยการมาใช้ชีวิตร่วมกันตลอดระยะเวลา 5 วัน 4 คืน ที่จะเป็นวันแห่งความสุข วันแห่งการเริ่มต้นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ของทุกท่าน ด้วยการพบปะ พูดคุย ระดมความคิด ปลุกพลัง เปิดมุมมองรับสิ่งที่ดีร่วมกัน เพื่อทำความฝันที่จะเห็นพื้นที่อำเภอเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชนกลายเป็นความจริงร่วมกัน ซึ่งต้องเริ่มจาก “นายอำเภอ” ผู้เป็นผู้นำที่ต้องพิสูจน์ฝีมือ ด้วยการทุ่มเทและเอาใจใส่อย่างจริงจัง เพื่อเป้าหมายในการ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ให้กับพื้นที่ และประเทศชาติ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนและทุกส่วนราชการมีความคาดหวังกับกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้นำการบูรณาการงานในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับความยอมรับนับถือในตัวผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะทุกท่านมีหมวกทั้งในฐานะหมวกผู้นำของพื้นที่ (Area Based) รวมทั้งรัฐบาลก็มีความคาดหวังในหมวกอีกใบหนึ่งในฐานะผู้นำการขับเคลื่อนแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติในทุกมิติ (Function) ของพื้นที่ นอกเหนือจากหมวกการเป็นผู้นำตามกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำของส่วนราชการในราชการบริหารส่วนภูมิภาคดำเนินนโยบายต่าง ๆ เช่นเดียวกันกับนายอำเภอที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนในระดับอำเภอ ซึ่งแน่นอนว่า “ผู้นำ” ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ “ต้องมีทีม” และต้องนำทีมลงไปรับฟังปัญหาของพี่น้องประชาชน ดั่งที่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นลงพื้นที่ตรวจราชการดูแลสารทุกข์สุขดิบของพสกนิกรในเมืองต่าง ๆ ที่แม้ว่าเส้นทางเสด็จฯ จะมีการสัญจรที่ยากลำบาก แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคสำหรับพระองค์ท่าน ซึ่งการเสด็จฯ ดังกล่าว ทำให้พระองค์ทรงมีภาคีเครือข่ายจำนวนมาก และประการที่สำคัญ คือ ทำให้พระองค์ทรงรับทราบข้อเท็จจริง ทรงรับรู้ปัญหาของพี่น้องประชาชน เป็นที่มาของการทรงปฏิรูปและพระราชทานพระบรมราโชบายในการบริหารราชการแผ่นดิน จนเป็นที่มาของการปกครองแบบส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น กำเนิดเกิดกระทรวง ทบวง กรม ที่รวมผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ยังผลทำให้ประเทศไทยมีการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นำไปสู่ประเทศชาติมั่นคง ประกอบกับองค์ปฐมเสนาบดี คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกำหนดแนวทางในการทำงานของชาวมหาดไทยว่า “การเป็นผู้นำต้องรองเท้าขาดก่อนกางเกง” อันนิยามอรรถาธิบายถึงการทำงานที่ต้องหมั่นออกตรวจพื้นที่มากกว่าการทำเอกสารหรือหนังสือในห้องทำงาน รวมถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานหลักการว่า “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่เป็นศาสตร์ของพระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ต้องมุ่งมั่นในการสร้างทีมงานที่มีแนวทางการทำงาน “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” ร่วมกับทีม ทั้งทีมที่เป็นทางการ และทีมภาคีเครือข่าย ต้องไม่ทำงานคนเดียว แบบ One Man Show เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งหลักสูตร CAST : Change Agent Strategies Transformation นี้ จะทำให้ทุกท่าน ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการทำงาน ด้วยการสร้างทีมจาก 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ตามหลัก “บวร บรม ครบ” ภายใต้การนำของผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ลงพื้นที่ไปพบปะพี่น้องประชาชน ใกล้ชิดประชาชน เพื่อค้นหาปัญหาและกำหนดแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ส่งเสริมพลังการมีส่วนร่วมให้เพิ่มพูน ทำงานร่วมกันอย่างยั่งยืน ทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและในฐานะคนไทยที่ต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ดังเจตนาที่ท่านผู้ว่าราชการทุกจังหวัดได้ร่วมกับ UN ประจำประเทศไทย ประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน” เพื่อผลักดันให้เกิดสิ่งที่ดี Change for Good ให้กับประชาชนและประเทศชาติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ (UN SDGs) โดยเฉพาะในข้อที่ 17 (Partnership) ทำให้ทุกตารางนิ้วของประเทศไทยได้รับการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังคำกล่าวที่ว่า “No Plan B , Action Now” เพราะเรามีโลกใบเดียว เราต้องลงมือทำทันที” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการทำหน้าที่ในฐานะข้าราชการของพวกเราทุกคนจะมีเวลาการดำรงตำแหน่งไม่เท่ากัน บางคนต้องเกษียณอายุราชการ บางคนต้องโยกย้ายตำแหน่งตามวิถีราชการ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญขึ้นอยู่กับ “อุดมการณ์” ของข้าราชการทุกคนที่ต้องมุ่งบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างการมีส่วนร่วม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง “เพราะจุดแตกหักของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนนั้นอยู่ที่หมู่บ้าน คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ที่มีนายอำเภอเป็นผู้นำ มีปลัดอำเภอเป็นผู้ช่วย มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน และภาคีเครือข่ายในทุกหมู่บ้าน อันหมายความว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงเดียวที่มีองคาพยพบุคลากรลงไปถึงในระดับหมู่บ้าน ดังนั้น ด้วย Attitude และ Passion ที่ดี จะเป็นส่วนสำคัญทำให้พวกเราทุกคนได้ทำหน้าที่ข้าราชการที่ดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สนองพระราชปณิธานของพระองค์ที่ทรงปรารถนาให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

“สิ่งที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องเป็น“ผู้นำต้องทำก่อน” “ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง” มีจิตสำนึกของการเป็นข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีแรงปรารถนา (Passion) มุ่งมั่นในการพูดคุยหล่อหลอม สร้างความรู้ความเข้าใจของคนในทีม ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ปลัดอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการในอำเภอ ข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ และทีมที่ไม่เป็นทางการ คือ “ทีมจิตอาสา” ต้องจัดให้มีการพูดคุยอย่างเอาจริงเอาจัง และผู้นำต้องเข้าประชุมด้วยตนเอง ติดตามถามไถ่จากการประชุม และนำสิ่งที่เป็นข้อเสนอแนะมาดำเนินการ ทำให้มีเวทีพบปะพูดคุยกันเป็นประจำ ทั้งการประชุมกรมการอำเภอ และการหารือต่าง ๆ โดยกำหนดวันในแต่ละเดือนให้ชัด และทำต่อเนื่องทุกเดือน ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการทำงาน “ร่วมคิด ร่วมพูด ร่วมหารือ ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์” หล่อหลอม “ทีมอำเภอ” ทั้ง 10 ท่าน ที่เป็น “ดวงใจของอำเภอ” ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” ด้วยความรัก ความสามัคคี ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ทีมต้องรักกัน ต้องรู้จักกัน เอาหัวใจมามัดรวมกัน และท่องปฏิญาณให้ขึ้นใจว่า “เราจะช่วยกัน Change for Good ให้เกิดขึ้น” เราจะช่วยกันทำความดีตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ซึ่งสิ่งที่ทำนี้จะเป็นบุญกุศลอย่างยิ่งกับประเทศชาติบ้านเมืองของเรา ทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนทั้ง 66 ล้านคน ใน 75,086 หมู่บ้าน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

 

ข้อมูล 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More