กรมอุทยานฯ สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณาข้ามชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวเป็นชาวเวียดนาม พร้อมของกลางเป็นชิ้นไม้กฤษณา 171 กิโลกรัม โดยเร่งติดตามตัวผู้กระทำผิดที่หลบหนีมาดำเนินคดีตามกฎหมายใน 9 ข้อหา
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณาข้ามชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวเป็นชาวเวียดนาม พร้อมของกลางเป็นชิ้นไม้กฤษณา 171 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800,000 บาท โดยเร่งติดตามตัวผู้กระทำผิดที่หลบหนีมาดำเนินคดีตามกฎหมายใน 9 ข้อหา
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงการจับกุมขบวนการลักลอบทำไม้กฤษณาข้ามชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมาว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าผาผึ้ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7(นครราชสีมา) ได้ร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย กองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังได้รับการแจ้งเบาะแสพบชาวเวียดนามเข้ามาทำไม้กฤษณา (ไม้หอม) ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศไทยหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นการทำลายความมั่นคงทางระบบนิเวศ และเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ลาดตระเวนอยู่ในผืนป่า โดยสามารถจับกุมชาวเวียดนามได้ 6 คน พร้อมของกลางเป็นชิ้นไม้กฤษณา 171 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800,000 บาท หรือกิโลกรัมละ 5,000 บาท ส่งขายให้กับนายทุนต่างประเทศทั้งในเวียดนามและไทย , รถยนต์ 2 คัน และอุปกรณ์ที่ใช้กระทำผิด ซึ่งคำให้การของผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมพบเครือข่ายของกระบวนการนี้ไม่ได้แค่ลักลอบทำไม้กฤษณาเท่านั้น จากการวิเคราะห์และเชื่อมโยงแผนประทุษกรรมยังพบกลุ่มผู้ต้องหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้กระทำความผิดรายอื่นในอดีตที่ผ่านมาในไทยด้วย ทั้งคดีการล่าและค้าสัตว์ป่าหายาก การทำไม้กฤษณา และไม้มีค่าอื่นๆโดยชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ผู้ต้องหา 1 รายในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้ต้องหาในคดีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่หลบหนีการเข้าควบคุมตัวไปได้ในครั้งนั้นด้วย เพื่อยกระดับการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมาดำเนินการตามกฎหมายและทลายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติในไทย กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีหนังสือเสนอไปยังสำนักการอัยการสูงสุดเพื่อขอให้พิจารณาเป็นคดีนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ต่อไป พร้อมขอความร่วมมือประเทศต้นทางให้เฝ้าระวัง ควบคุม และหยุดยั้งการกระทำผิดไม่ให้ข้ามมายังไทย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างลาดตระเวนเพื่อจับกุมตัวผู้กระทำผิดหลบหนีในเขตป่าที่เหลือมาดำเนินคดี
สำหรับผู้ต้องหาทั้งหมดมีโทษในฐานความผิด 9 ข้อหาตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 คือ ฐานร่วมกันเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต // ฐานร่วมกันทำด้วยประการใดให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติเดิม // ฐานร่วมกันกับพวก เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆที่เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตรเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ // ฐานร่วมกันกับพวกเก็บหาของป่าหวงห้าม หรือทำอันตรายด้วยประการใดๆ แก่ของป่าหวงห้ามในป่า โดยไม่ได้รับอนุญาต // ฐานร่วมกันกับพวกค้าของป่าหวงห้ามหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต // ฐานร่วมกันกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการทำลายป่า // ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต // ฐานร่วมกันกับพวกกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ผู้นั้นต้องชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหายไปนั้น และสุดท้าย ผู้ใดกระทำหรือละเว้นกระทำด้วยประการใด โดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือเป็นเหตุให้เกิดการทำลาย หรือทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้นั้นมีหน้าที่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น
แหล่งที่มา
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More