ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เกษตรจังหวัดลำปาง แนะเกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งนี้

เกษตรจังหวัดลำปาง แนะเกษตรกรเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งนี้

นายธีระพงศ์ ฤทธิโชติ เกษตรจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนปี 2566 โดยเฉพาะขณะนี้สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยทั่วไปร้อนและแห้งแล้ง จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนเตรียมการรับมือและใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งขอให้เกษตรกรปรับตัวตระหนักถึงเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่ปลูกพืชภัยแล้งเกินแผนที่กำหนด พร้อมดูแลรักษาความชื้นในแปลงปลูกพืช สร้างแหล่งน้ำในไร่นา หรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมการเกษตร โดยใช้แนวทางตามศาสตร์พระราชาเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน เป็นต้น

เกษตรจังหวัดลำปาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ในฤดูกาลของไม้ผล โดยเฉพาะลำไยและส้มเกลี้ยงที่ไม้ผลเศรษฐกิจของจังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในระยะออกดอกและติดผลเล็ก หากได้รับน้ำไม่เพียงพอจะทำให้ผลร่วง ผลผลิตมีขนาดเล็กคุณภาพต่ำ ส่งผลกระทบทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เกษตรกรจึงต้องมีการดูแลสวนไม้ผลเป็นพิเศษ

สำหรับข้อแนะนำการเตรียมรับมือและดูแลผลผลิต ดังนี้

1. การให้น้ำ ควรคำนึงถึงการให้น้ำแบบประหยัดที่สุด คือ ให้น้ำต้นไม้ผล ภายในบริเวณรัศมีทรงพุ่มเท่านั้น อย่าให้น้ำมากจนไหลแฉะไปทั่วสวน ควรให้น้ำแบบระบบน้ำหยดจะช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าการใช้สายยางรดน้ำ ให้น้ำครั้งน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง เพื่อลดการสูญเสียน้ำ เปลี่ยนช่วงเวลาการให้น้ำเป็นช่วงกลางคืน เพื่อช่วยให้พืชลดการระเหยน้ำจากการถูกแดดเผา

2. การใช้วัสดุคลุมดิน โดยคลุมจากโคนต้นไม้ผลจนถึงแนวรัศมีทรงพุ่ม วัสดุที่ใช้ ได้แก่ ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง เป็นต้น ซึ่งวัสดุคลุมดินจะช่วยชะลออัตราการระเหยของน้ำจากผิวดินให้ช้าลง และวัสดุเหล่านี้จะค่อย ๆ ผุผังเป็นอินทรียวัตถุ ทำให้ดินร่วนและมีการอุ้มน้ำดีขึ้น กรณีต้นไม้เล็กควรใช้วัสดุช่วยในการพรางแสง เพื่อลดความเข้มแสง

3. การตัดแต่งกิ่ง ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดูแล้ง หลังการเก็บผลแล้ว ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง เพื่อลดการระเหยน้ำทางใบ และช่วยให้การออกดอกติดผลในฤดูต่อไปเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

4. การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดตั้งแต่ต้นฤดูแล้ง และใช้เศษวัสดุที่แห้งแล้วมาคลุมโคนต้นไม้ผล แต่ในระยะที่ขาดแคลนน้ำมาก ๆ ไม่ควรทำการกำจัดวัชพืชหรือไถพรวนดิน เพราะจะทำให้ผิวดินแห้งเร็วมากขึ้น

5. การจัดหาแหล่งน้ำ ควรปรับปรุงบ่อน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ และสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาเก็บกักไว้

6. ไม่ควรใส่ปุ๋ยในช่วงแล้งหากน้ำไม่เพียงพอ เพราะจะเป็นการไปกระตุ้นการเจริญเติบโต ให้แตกใบอ่อนในช่วงแล้งน้ำน้อย จะทำให้พืชมีน้ำไม่พอใช้มากขึ้น ส่งผลทำให้ต้นเหี่ยวเฉาและตายได้

ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ และสำนักงานเกษตรจังหวัด

ข้อมูล 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More