ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ฤๅกรมหลวงพิชิตปรีชากร “เม้ม” สาวเหนือนำถวายร.5 จนถูกเนรเทศ? กับเหตุสตรี 3 ผัว ร.ศ. 112

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุลคัคณางค์

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2554
ผู้เขียน
หลง ใส่ลายสือ
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2565

 

หากจะพูดถึงประวัติศาสตร์ในแนวเกร็ด หรือพงศาวดารกระซิบ ดูเหมือนว่าในช่วงรัชกาลที่ 5 จะมีเรื่องทํานองนี้อยู่มากที่สุด เรื่องนี้ก็เช่นกัน เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าถึงการที่ทรงถูก “เม้ม” สาวเชียงใหม่ ซึ่งทางเจ้าเชียงใหม่ส่งมาถวายตัว แต่ไม่ถึงมือท่าน ทําให้ทรงกริ้วเป็นกําลัง ถึงขั้นเนรเทศผู้กระทําซึ่งเป็น “น้องชาย” ของพระองค์ไปอยู่ไกลถึงขอบชายแดนสยาม

เกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ “นิทานชาวไร่” ผู้เขียนคือ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี แม้ว่าชื่อหนังสือจะอยู่ไกลจากหนังสือแนวประวัติศาสตร์อยู่มากจนหลายคนคิดไม่ถึง แต่ว่าเนื้อหาแต่ละเรื่องนั้นนับว่ามีคุณค่ามหาศาล ที่โดดเด่นที่สุดของหนังสือชุดนี้ก็คือ อ่านง่าย สนุกสนาน เหมาะอย่างยิ่งสําหรับผู้ที่ชื่นชอบเรื่องเก่า แต่ปวดหัวกับสํานวนของนักวิชาการทั้งหลาย

นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี เกิดในปี 2445 เข้าเป็นนักเรียนนายเรือในปี 2462 เป็นผู้หนึ่งที่ได้ไปศึกษาการใช้เรือดําน้ำที่ประเทศญี่ปุ่น เข้ารับราชการในกองทัพเรือหลายตําแหน่ง เคยประจําเรือรบ เคยเป็นผู้บังคับการกองโรงเรียนนายเรือสมัยเกล็ดแก้ว เป็นบรรณาธิการนาวิกศาสตร์ และเป็นหัวหน้ากองประวัติศาสตร์ทหารเรือในปี 2490 ส่วนเหตุที่มาของชื่อ “นิทานชาวไร่” นั้นท่านได้อธิบายไว้ในหน้าคํานําแล้วว่า “เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นข้าราชการบํานาญ ออกไปทําไร่อยู่ที่กระท่อมกรรมศาลสัตหีบ พ.ศ. 2502” ท่านจึงได้เขียนเรื่องนี้เป็นวิทยาทานให้กับลูกหลานทหารเรือรุ่นหลังได้อ่านกันใน หนังสือนาวิกศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมา

ต่อมาองค์การค้าของคุรุสภาได้รวบรวม “นิทานชาวไร่ เป็นหนังสือชุดภาษาไทยจํานวน 12 เล่ม ที่พิมพ์ตั้งแต่ปี 2508 ถึง 2518 มีจํานวนทั้งหมด 133 ตอน

ส่วนเรื่องที่จะคัดมาให้อ่านนี้ ตีพิมพ์อยู่ในนิทานชาวไร่ เล่ม 3 ฉบับของคุรุสภาพิมพ์ในปี 2509 ตอนที่ 29 เป็นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับพระประวัติช่วงหนึ่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ต้นราชสกุลคัคณางค์

กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในพระเจ้าน้องยาเธอที่ “เก่ง” ทั้งทางการปกครอง ทางกฎหมาย และการประพันธ์ และตอนสําคัญของเรื่องนี้ก็คือตอนที่ได้เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ประจํามณฑลอีสาน แต่เหตุที่ต้องถูก “เนรเทศ” ไปอยู่ไกลถึงชายแดนนั้น ผู้การสวัสดิ์ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ขอคัดมาให้อ่านโดยไม่ปรุงใหม่ ดังนี้

“เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ อยากให้พระพุทธเจ้าหลวงทรงเมตตายิ่งขึ้นจึงได้จัดราชบุตรี และหญิงสวยรวม 3 คน เข้ามาถวาย มีเจ้าดารารัศมี, เจ้าทิพเกสร และนางสาวไม่ปรากฏนาม โดยฝากมากับกรมหลวง พิชิตปรีชากร เข้ามากรุงเทพฯ เพราะเวลานั้นการคมนาคมลําบาก เจ้าเชียงใหม่ไม่มีเวลามาด้วยตนเอง พอสบโอกาสที่พระเจ้าน้องยาเธอเสด็จขึ้นไปเชียงใหม่ ก็เลยฝากลงมาเสียด้วย ขืนชักช้าเกรงว่าพระพุทธเจ้าหลวงจะทรงพิโรธเอาก็ได้

ต่อมาอีกหลายปี เจ้าเชียงใหม่จึงลงมายังกรุงเทพฯ จะเป็นเพราะงานเมรุกรมพระยาบําราบปรปักษ์ หรือเจ้าดารารัศมีประสูติพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (ใน พ.ศ. 2432) ก็ไม่แน่ เจ้าเชียงใหม่จึงได้กล่าวขวัญถึงหญิงทั้งสามที่พระองค์ส่งมาแต่ครั้งกระโน้น พระพุทธเจ้าหลวงทรงอึ้งก็ได้แต่ เออ ๆ คะ ๆ ไปตามเรื่อง ส่วนในพระทัยชักจะสงสัยเต็มกลืนอยู่แล้ว เพราะพระองค์ได้รับไว้แต่เจ้าหญิงเชียงใหม่สององค์เท่านั้น

ได้รับสั่งเรียกกรมหลวงพิชิตปรีชากรไปถาม จึงได้ความว่าพระเจ้าน้องยาเธอเม้มเอาไว้เสียหนึ่งคน พระพุทธเจ้าหลวงพิโรธมาก สั่งถอดออกจากอธิบดีศาล รับสั่งชําระความฎีกาทันที

อันความทุกข์ใดจะมากเท่าที่พระราชาทรงกริ้วเป็นไม่มี เสด็จในกรมไม่เป็นอันกินอันนอน กลายเป็นคนป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ไปแทบจะวิกลจริตเอาทีเดียว ทรงออกจากราชการอยู่ 2-3 ปี กรมพระยาดํารงราชานุภาพเห็นว่าถ้าขืนทิ้งไว้เกรงว่า กรมหลวงพิชิตฯ จะเป็นบ้าไปจริง ๆ และระยะเวลาก็นานพอที่จะทําให้ในหลวงคลายพระพิโรธมากแล้ว จึงกราบทูลขอให้เนรเทศกรมหลวงพิชิตฯ ให้ไปไกล คือให้ไป “กินเมือง” ทางภาคอีสานเสีย”

เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบได้ แต่เมื่อตรวจสอบกับหลักฐานอื่นก็พบว่าพิกลอยู่ คือใน ปี 2426 (บางแห่งว่า 2427) รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตฯ เป็นผู้อัญเชิญพระกุณฑล และพระธำมรงค์เพชรไปพระราชทานเจ้าดารา รัศมีในพิธีโสกันต์ ใกล้เคียงกับพระประวัติฯ ที่กรมพระยาดํารงฯ ทรงนิพนธ์ไว้ว่าเสด็จขึ้นไปว่าราชการที่เชียงใหม่ในปี 2427 (ร.ศ. 103) และเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในปีถัดมาคือ 2428 (ร.ศ. 104)

ปัญหาสําคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงนี้ คือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเชียงใหม่ขณะนั้นได้เดินทางมากรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระธิดาเจ้าดารารัศมี เพื่อมาในพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในปี 2429 ตามธรรมเนียมของเจ้าประเทศราช และเจ้าดารารัศมีก็ได้ถวาย ตัวในปีเดียวกันนี้ ตามบันทึกในพระราชกิจรายวัน ประจําวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ อัฐศก ศักราช 1248 (3 กุมภาพันธ์ 2429) ความว่า วันนี้เจ้าดารารัศมีธิดา พระเจ้านครเชียงใหม่ เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง พระเจ้านครเชียงใหม่ถวาย”

ซึ่งก็เท่ากับว่าพระเจ้าอินทวิชยานนท์พาเจ้าดารารัศมีมาด้วยตัวเอง ไม่ได้ฝากกรมหลวงพิชิตฯ มาตามที่ปรากฏในนิทานชาวไร่? เมื่อเจ้าเชียงใหม่กํากับพระธิดามาดังนี้เหตุใดจึงเกิดเรื่องดังกล่าวได้ คดีนี้จะมีจริงหรือไม่ยังน่าสงสัยอยู่

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นประวัติศาสตร์ประเภทพงศาวดารกระซิบนั้นก็ใช่ว่าจะผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่ร่ำไป ซึ่งเรื่องบางเรื่องก็อาจจะหลุดไปจากการบันทึกแบบ “ทางการ” ไปได้ เพราะจดหมายฉบับหนึ่งที่กรมหลวงพิชิตฯ ทรงเขียนขึ้นกราบทูลกรมหลวงเทววงศ์วโรประการ เมื่อแรกที่ต้องมาประทับอยู่อุบลราชธานี หัวเมืองลาวกาว มณฑลอีสานว่า “นึกเสียใจอยู่ ว่าเป็นกําม์จึ่งจําต้องมา”

กรรมของท่านนั้นจะเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้การสวัสดิ์เขียนไว้หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้

เพราะก่อนหน้านี้ กรมหลวงพิชิตฯ ท่านก็เคยต้องคดีขัดพระทัยพระเจ้าอยู่หัวอยู่ครั้งหนึ่งคือ คดี “สนุกนิ์นึก” เรื่องสั้นเรื่องนี้ท่านนิพนธ์ขึ้นตามแบบฝรั่ง โดยใช้วัดบวรฯ เป็นฉาก เรื่องเกี่ยวกับพระหนุ่ม 4 คน คิดจะสึกออกมาหาทางทํามาหากิน ทําให้กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์น้อยพระทัย เพราะจะทําให้ผู้อ่านสําคัญผิดคิดว่าเป็นเรื่องจริง พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงต้องเป็นคนกลางเคลียร์เรื่องนี้ให้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2429

อย่างไรก็ดี กรมหลวงพิชิตฯ ท่านก็ต้องไปประทับอยู่อีสานในปี 2434 (ร.ศ. 110) ห่างจากคดี “เม้มแม่หญิงเชียง ใหม่” อยู่ 6 ปี และห่างจากคดี “สนุกนิ์นึก” อยู่ 5 ปี

คดีไหนกันแน่ที่ทําให้ต้องถูก “เนรเทศ” ไปอยู่อีสาน?

แถมท้ายเรื่องนี้ ซึ่งอยู่ท้ายบทที่ 29 นี้ เป็นเรื่องสนุก ๆ อันเกี่ยวกับหัวเมืองมณฑลอีสาน หลังจากที่กรมหลวงพิชิตฯ ทรงว่าราชการอยู่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อสยามมีปัญหากับชาติฝรั่งเศสเมื่อคราว ร.ศ. 112 เกิดการปะทะกันที่เมืองสีทันดร

กรมหลวงพิชิตฯ จึงมีรับสั่งให้พระประชาคดีกิจ (แช่ม บุนนาค) คุมกองทหารพื้นเมืองอุบลฯ ยกไปขัดตาทัพที่สีทันดรเป็นทัพแรก จากนั้นก็ทรงมีใบบอกมายังกรุงเทพฯ ให้จัดทัพขึ้นมาเสริม ทัพนี้มีพระศรีณรงค์พิชัยเป็นแม่ทัพ โดยใช้นายทหารจากกรุงเทพฯ ส่วนพลทหารนั้นไปเกณฑ์เอาแถวเมืองนครนายก ปราจีนฯ และ ฉะเชิงเทรา แล้วยกทัพมาเสริมที่อุบลฯ เป็นทัพที่ 2 หลังจากนั้นก็มีการจัดทัพเพิ่มขึ้นอีกทัพหนึ่งโดยใช้ทหารจากกรุงเทพฯ ทั้งหมด มีพระพิเรนทรเทพ (สาย สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพ เป็นทัพที่ 3

สรุปก็คือศึกครั้งนี้มี 3 กองทัพ ใช้ทหารต่างถิ่นกัน คือทหารพื้นเมืองอุบลฯ ทหารหัวเมืองตะวันออก และทหารกรุงเทพฯ แต่ละกองทัพมีทหารประมาณ 500 คน

ครั้นเมื่อทัพทหารพื้นเมืองของพระประชาคดีกิจยกไปที่สีทันดรแล้ว ก็ทิ้งเมีย 500 คนไว้เบื้องหลัง ที่นี้พอทัพทหารหัวเมืองตะวันออกของพระศรีณรงค์ฯ ยกมาถึงอุบลฯ ก็เที่ยวไปหลอกบรรดาเมีย ๆ ของทหารพื้นเมืองว่าทหารในทัพของพระประชาคดีกิจตายหมดแล้ว บรรดาพ่อแม่ของเมีย ๆ ทหาร พื้นเมืองก็เห็นลูกยังสาวมาร้างผัวเสียอย่างนี้ก็ยอมยกลูกสาวให้ทหารหัวเมืองกันหมด โดยผัวใหม่ก็ยอมจ่ายค่าเสียผีตาม ธรรมเนียม

แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็ต้องยกทัพตามไปที่สีทันดรอีก บรรดาเมียทหารจึงร้างตัวเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้นยังไม่พอ อีก 20 วันต่อมาทัพพระพิเรนทรเทพก็มาถึงอุบลฯ อีก ก็เข้าสูตรเก่า จึงเป็นอันว่าสาวอุบลฯ ทั้ง 500 คนถูกกินรวบ มี 3 ผัวในเวลาไม่กี่วัน

ที่นี้เมื่อทางกรุงเทพฯ สั่งให้เลิกรบกับฝรั่งเศส ทั้งสามกองทัพจึงยกทัพกลับมาจ๊ะเอ๋กันที่อุบลฯ ต่างมุ่งหน้ากลับมาหาเมียรัก ความโกลาหลเกิดขึ้นตรงนี้เอง ต่างฝ่ายต่าง แสดงสิทธิ เกิดมิคสัญญีกลางเมืองขึ้น มีการทะเลาะวิวาทกันถึงเลือดตกยางออก แม่ทัพทั้งสามจึงต้องประชุมหาทางยุติศึกกลางเมืองครั้งนี้เป็นการด่วน โดยให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้เลือกว่าจะอยู่กับผัวคนไหน เรื่องจึงสงบลงได้ ส่วนผัวใหม่นั้นจะต้องจ่าย “ค่าเสียหาย” ให้แก่ผัวอีก 2 คนที่อดมีเมียอุบลฯ โดยจ่ายให้คนละ 1 บาทต่อเดือน จนครบครึ่งหนึ่งของค่า “เสียผี” ที่ทั้งสองจ่ายไป เรื่องจึงจบลงด้วยดี

นี่เป็นเสน่ห์ของประวัติศาสตร์บอกเล่า หรือเกร็ดประวัติศาสตร์ ส่วนหนึ่งในจํานวน 133 ตอนของ “นิทานชาวไร่” ที่อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ซึ่งผู้เขียนได้บอกที่มาของเรื่องเหล่านี้ไว้ว่า “ทุกเรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนนี้ ได้จากประสบการณ์จริง ๆ บ้าง ได้จากผู้เล่าให้ฟังบ้าง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น”

น่าเสียดายตรงที่ว่าหนังสือดี ๆ อย่างนี้เพิ่งจะขายหมด ที่ร้านศึกษาภัณฑ์ไปไม่กี่ปีมานี้เอง และคงอีกนานกว่าจะมี ใครพิมพ์ขึ้นมาใหม่ นักอ่านชาวสยามก็คงต้องดิ้นรนขวนขวายหาหนังสือชุดนี้อ่านกันเองต่อไป

 

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_35588

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กรกฎาคม 2562

The post ฤๅกรมหลวงพิชิตปรีชากร “เม้ม” สาวเหนือนำถวายร.5 จนถูกเนรเทศ? กับเหตุสตรี 3 ผัว ร.ศ. 112 appeared first on Thailand News.