ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

กรมท่าอากาศยาน คุมเข้มมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ภายในเขตการบิน

กรมท่าอากาศยาน คุมเข้มมาตรการลดฝุ่น PM2.5 ภายในเขตการบิน

นายเกียรติชัย ชัยเรืองยศ รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ด้านมาตรฐาน เปิดเผยถึงมาตรการรับมือกรณีค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มส่งผลกระทบด้านการบิน ว่า ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ทั้ง 29 แห่ง มีมาตรการดำเนินงานกรณีเข้าสู่สภาวะทัศนวิสัยต่ำ (Low Visibility Procedure) ตามขั้นตอนและมาตรฐานในทันที เมื่อเกิดสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการปฏิบัติงานภายในเขตการบิน รวมถึงส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการบินของอากาศยาน เช่น เกิดกลุ่มควันไฟมาก หมอกหนา หรือฝนตกหนัก จนทำให้เกิดทัศนวิสัยต่ำ ตั้งแต่ 550 – 500 เมตร หรือต่ำกว่า

โดยหอควบคุมการบินจะเป็นหน่วยงานในการแจ้ง ให้เจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการทั้งหมด หยุดปฏิบัติงานในเขตพื้นที่การบิน จนกว่าจะได้รับการยกเลิก หรือการยกระดับการแจ้งเตือนทัศนวิสัยต่ำ ซึ่งการกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน การแจ้งเข้าสู่สภาวะทัศนวิสัยต่ำจะขึ้นอยู่กับแต่ละสนามบินเป็นผู้กำหนด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบินล่าช้า หรือไม่สามารถลงจอดได้เนื่องจากทัศนวิสัยต่ำ ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ ทัศนวิสัย (Visibility) จากสภาพอากาศมากกว่า 550 เมตร หอควบคุมการบินจะยกเลิกแจ้งเตือนทัศนวิสัยต่ำ ส่วนเจ้าหน้าที่สนามบินจะเป็นผู้แจ้งให้ผู้ประกอบการทั้งหมดทราบเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร ไว้อำนวยความสะดวก รวดเร็ว รวมถึงด้านความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และด้านสาธารณสุข รองรับผู้มาใช้บริการ

นอกจากนี้ กรมท่าอากาศยาน ยังมีมาตรการรณรงค์ลดฝุ่น PM2.5 ภายในท่าอากาศยาน เช่น ตรวจวัดควันดำของรถที่ใช้งานในเขตการบิน (Airside) การรับส่งผู้โดยสาร บริเวณหน้าอาคารผู้โดยสาร หรือบริเวณลานจอดรถภายในสนามบิน ต้องทำการดับเครื่องยนต์และไม่อนุญาตให้ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ ส่วนพื้นที่ใดมีการก่อสร้างต้องปล่อยละอองน้ำดักจับฝุ่น ฉีดน้ำทำความสะอาดล้อรถบรรทุก หรือรถอื่นๆ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง และควบคุมฝุ่นละอองจากการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ

ข้อมูล 

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More