ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

การสร้างเมือง ‘มัณฑะเลย์’ กับตำนานความสยดสยองของธรรมเนียมพม่า

ประตูพระราชวังหลวงมัณฑะเลย์

 

เนื่องจากเมืองหลวงเก่าอย่างอังวะและอมรปุระนั้นเกี่ยวข้องกับการประสบความอัปยศและความพ่ายแพ้ที่น่าโศกเศร้าของพม่า ที่มีต่ออังกฤษในสงครามทั้งสองครั้ง เมื่อปี 1824-1826 และปี 1852 พระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่า จึงโปรดให้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ นั่นคือเมืองมัณฑะเลย์ ให้ยิ่งใหญ่และมีความวิจิตรงดงาม

เมืองมัณฑะเลย์เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1857 พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชสำนักมายังเมืองหลวงใหม่เมื่อปี 1858 หลังจากสร้างเพียงพระราชวังเสร็จเท่านั้น กระทั่งเมืองมัณฑะเลย์สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1861

เพราะความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ต่ออังกฤษ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังใจ และผืนแผ่นดิน ทำให้ทรงตัดสินใจย้ายเมืองหลวง แต่มีสาเหตุอีกประการหนึ่งที่เร่งให้ย้ายเมืองหลวงคือ ความเชื่อส่วนพระองค์ของพระเจ้ามินดง ทรงมีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม วิญญาณ ภูติผี ว่าดูแลรักษาพระนครไม่ดีจนทำให้ผีบ้านผีเมืองไม่พอใจ จึงบันดาลให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ ขึ้น และยังทรงเคยสุบินเกี่ยวกับเมืองริมเขามัณฑะเลย์มาหลายครั้ง อันเป็นมงคลนิมิตรที่ทำให้ทรงตัดสินใจย้ายเมืองหลวง

หลังจากดูฤกษ์ยามและให้เจ้าพนักงานไปสำรวจพื้นที่แล้ว จึงเลือกพื้นที่ใกล้เขามัณฑะเลย์สร้างเป็นเมืองหลวงใหม่ ในเดือนเมษายนปี 1857 พระเจ้ามินดงพระราชทานโค กระบือ พันธุ์ข้าว และเครื่องมือต่าง ๆ ให้เจ้าพนักงานเดินทางไปหักร้างถางพกเมืองหลวงแห่งใหม่ล่วงหน้า พร้อมกับให้ชาวบ้านเข้าจับจองพื้นที่ และทรงตรัสกำชับให้เร่งสร้างพระราชวัง พระตำหนัก ศาลาราชการอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จตามฤกษ์ยามที่กำหนด

พระราชวังหลวงที่เมืองอมรปุระ

 

ทว่าในระหว่างนั้นกลับเกิดอาเพศที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นสัญญาณเตือนของการย้ายเมืองหลวงใหม่ ทั้งพระเศวตกุญชร ช้างหลวงของพระเจ้ามินดงล้ม (ตาย) และไฟไหม้พลับพลาพระมหายุวราชา แต่โหรหลวงก็ถวายคำทำนายไปในทางที่ดี ต่อมาในปี 1858 เกิดพายุใหญ่ ฟ้าผ่าปราสาทที่สร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังหลวงที่เมืองมัณฑะเลย์ แต่พระเจ้ามินดงก็ทรงเชื่อว่าเป็นศุภนิมิตอันดีว่าจะมีชัยต่อข้าศึกศัตรู

เมื่อถึงกำหนดมงคลฤกษ์แล้ว พระเจ้ามินดงพร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงเสด็จสู่พระราชวังหลวงแห่งใหม่ บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มากมายเพื่อเฉลิมฉลองพระราชวังหลวงให้รุ่งเรืองสมเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ของอาณาจักร การย้ายราชสำนักมายังเมืองมัณฑะเลย์นี้ได้ขนเอาทรัพย์สินเงินทองและของมีค่าจำนวนมากจากเมืองอมรปุระไปด้วยทั้งหมด

มีบันทึกไว้ว่า การย้ายเมืองหลวงในครั้งนั้น เมืองอมรปุระที่เคยเป็นราชสำนักอันหรูหราและสว่างไสว พอขบวนสุดท้ายของพระเจ้ามินดงออกจากชานเมืองไป เมืองอมรปุระก็กลายเป็นเมืองเก่าทันที คือเห็นแต่สุนัขกลางถนน โบสถ์วิหารที่ปรักหักพัง และละอองฝุ่น

ชาวต่างประเทศได้บรรยายเมืองมัณฑะเลย์ในช่วงเวลานั้นไว้ว่า

“…เมืองมัณฑะเลย์ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้ามินดงนั้น จากฝั่งแม่น้ำอิรวดีขึ้นไปจนถึงภูเขามัณฑะเลย์ประมาณ 20 ไมล์ เป็นสภาพเหมือนเมืองตั้งอยู่บนระหว่างที่ราบริมแม่น้ำกับเชิงภูเขา เป็นเมืองที่สวยงาม และดูเป็นเหมือนศูนย์รวมแห่งความสุข รอบพระราชวังซึ่งขุดเอาดินมาถมเป็นเนินเมืองสร้างเป็นคูน้ำกว้าง ปลูกดอกบัวไว้เป็นช่วง ๆ ริมขอบกำแพงวังมีต้นไม้ขึ้นเรียงรายดูร่มรื่น ระหว่างคูสองฝั่งมีสะพานยาวทอดข้ามจากสะพานข้ามคูออกมา

ทางเชิงเขามัณฑะเลย์ปลูกไม้ดอกไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกุหลาบสีแดงซึ่งยามนั้นก็กำลังผลิดอกพร้อมกันมากมาย จนดูเหมือนทุ่งไร่ดอกกุหลาบ ถัดไปนั้นเป็นภูเขากั้นระหว่างพม่ากับแคว้นไทยใหญ่ นอกคูออกมาเป็นถนนที่ตัดขึ้นใหม่ มีต้นไม้เรียงรายอยู่สองฟากทาง โดยมากเป็นต้นทองกวาว แต่ถนนในพม่าส่วนใหญ่มีฝุ่นค่อนข้างมากในช่วงฤดูแล้ง…”

พระราชวังมัณฑะเลย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคูน้ำขนาดใหญ่และกำแพงสูงตระหง่านล้อมรอบทั้งสี่ด้าน กำแพงแต่ละด้านมีประตูใหญ่ 3 ประตู รวม 12 ประตู

ท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการในพระราชวังมัณฑะเลย์

 

แต่ในช่วงการสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์นั้น มีบันทึกในพงศาวดารพม่าและเอกสารของชาวต่างประเทศ ที่บันทึกเกี่ยวกับความโหดเหี้ยมสยดสยองของธรรมเนียมพม่าที่ต้องเลือกคนมาฝังทั้งเป็นแต่ละจุดก่อนจะลงเสาหลักและเริ่มการก่อสร้างเพื่อให้เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง

พระเจ้ามินดงรับสั่งให้จับคน 52 คนมาขุดหลุมฝังทั้งเป็น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยและให้เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง โดยให้เจ้าพนักงานขุดหลุมฝังไว้ตามแต่ละจุด กล่าวคือ บริเวณประตูทั้ง 12 ประตู ฝังหลุมละ 3 คน บริเวณมุมกำแพงทั้งสี่มุม ฝังหลุมละ 1 คน บริเวณท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ ฝังอีก 4 คน ส่วนที่เหลือให้ฝังยังบริเวณต่าง ๆ กระจายทั่วพระราชวังหลวง โดยมากจะฝังไว้ตรงประตูที่จะเข้าสู่พระราชมณเฑียรชั้นใน

ก่อนจะฝังคนทั้งเป็นเพื่อให้เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง พระสงฆ์กราบทูลทัดทานไว้มากว่าไม่ได้เป็นไปเพื่ิอความไม่มีภัยอันตรายตามหลักพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้ามินดงทรงเชื่อถือคติของพวกพราหมณ์และโหรหลวงมากกว่า พวกนี้เป็นชาวอินเดียมารับราชการในราชสำนัก มีความรู้ด้านโหราศาสตร์ และคัมภีร์พระเวท

ในหนังสือ ราชบัลลังก์พม่า เล่าถึงการเลือกคนมาฝังทั้งเป็นไว้ดังนี้

“…ตํารวจส่งเจ้าหน้าที่ไปเลือกเอาคนชั้นผู้ดีมีตระกูล ซึ่งเกิดมาในวันตามฤกษ์ เห็นจะถือเอาคนเกิดวันเสาร์กับวันอังคารที่นับว่าเป็นวันแข็งที่สุดในสัปดาห์ ถ้าเป็นผู้ชาย เลือกเอาผู้ชายที่มีร่างกายบริสุทธิ์ปราศจากรอยสัก ซึ่งตามธรรมเนียมคนพม่าพอเกิดมาชอบสักกันเต็มตัว อย่างน้อยมักสักลงในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ถ้าเป็นผู้หญิง ต้องเลือกเอาผู้หญิงที่ยังไม่ได้เจาะหู ข้อนี้ก็เป็นเรื่องหาได้ยาก เพราะพวกผู้หญิงพม่าที่เกิดมาพ่อแม่ก็จัดพิธีเจาะหูตามธรรมเนียมไว้ก่อนทุกคน

แต่เรื่องที่จะเลือกเอาแต่ผู้ชายที่ไม่มีรอยสัก และผู้หญิงไม่มีรอยเจาะหูนั้น ไม่มีคนทั้งหลายรู้ ชาวเมืองรู้กันแต่ว่า ทางบ้านเมืองจะมาจับคนไปฝังทั้งเป็น เพื่อเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง พอข่าวนี้ล่วงรู้กันไปในหมู่พลเมือง เล่ากันว่าทางกรุงอมรปุระ เมืองหลวงเก่า และตามบ้านเรือนทุกแห่ง มีสภาพเหมือนเมืองร้าง คนทั้งหลายพากันหนีเข้าป่าหมด ไม่มีใครอยู่รอรับเคราะห์กรรม อากาศที่เคยสว่าง กลับมืดมิด ความอบอุ่นที่เคยมี กลายเป็นความหนาวสั่น เพราะความกลัวภัย

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่หาคนมาฝัง เมื่อเห็นราษฎรพากันหนีหน้าไปหมด ก็ใช้ความดุร้ายเป็นเครื่องแทน ความฉลาด ใช้วิธีล่อหลอกราษฎรด้วยวิธีตั้งโรงละครสาธารณะ มีการแสดงต่าง ๆ อันเป็นที่พอใจของราษฎร แล้วประกาศลวงเอาแก่ราษฎรว่าให้เข้ามาชมละครในคราวฉลองเมืองใหม่ ฝ่ายราษฎรไม่รู้เท่าถึงการณ์ อยากจะดูละครหลวงมากกว่ากลัวตาย หรือเพราะไม่รู้ว่าตนจะต้องถึงแก่ความตาย ก็พากันออกจากป่าเข้ามาดูละคร พวกเจ้าหน้าที่เห็นราษฎรดูละครเพลินอยู่ จึงตรงเข้าจับกุม เลือกเอาคนที่ตนต้องการ… ปรากฏว่าในวันนั้นมีคนถูกจับไปเป็นจํานวน 52 คน ตามกําหนด ที่พราหมณ์ผู้ฉลาดทูลแด่พระเจ้ามินดงไว้ ครั้นแล้วพิธีฝังคนทั้งเป็นก็เริ่ม…”

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า “…ที่มุมเมืองข้างภายนอกมีศาลเทพารักษ์และว่ามีรูปยักษ์อยู่ในนั้นทั้ง 4 มุม แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตา การฝั่งอาถรรพณ์เมืองมัณฑเลมีในหนังสือฝรั่งแต่งบางเรื่องว่าเอาคนฝังทั้งเป็น ณ ที่ต่าง ๆ ถึง 52 คน แต่มีผู้แต่งคนหนึ่งกล่าวว่า การที่เอาคนฝังทั้งเป็นนั้นมีในตำราจริง และเคยทำกันแม้ในยุโรปเมื่อดึกดำบรรพ์ แต่พม่าเลิกเสียแล้วช้านาน ใช้โอ่งใส่น้ำมันฝังเป็นอาถรรพณ์แทน…”

 

อ้างอิง :

เสถียร พันธรังษี. (2508). ราชบัลลังก์พม่า. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.

สถาปัตย์ สหเทวกาล. (2558). พม่ารบอังกฤษ. กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์

หม่องทินอ่อง. (2551). ประวัติศาสตร์พม่า. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2545). เที่ยวเมืองพม่า. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_44100

The post การสร้างเมือง ‘มัณฑะเลย์’ กับตำนานความสยดสยองของธรรมเนียมพม่า appeared first on Thailand News.