ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

รามเกียรติ์ ตอนที่ 12 กำเนิดนางมณโฑ

กาลครั้งหนึ่งในป่าหิมพานต์ มีฤาษี ผู้มีตบะญาณแก่กล้า 4 ตน บำเพ็ญพรตอยู่ในป่า, โดยปลูกอาศรมอยู่ติดกัน ได้แก่ “พระฤาษีอตันตา”, “พระฤาษีวชิรามุนี”, “พระฤาษีวิสูต” ,และ “พระฤาษีมหาโรมสิงค์”, โดยฤาษีทั้งสี่ตนบำเพ็ญภาวนามาเป็นระยะเวลากว่าสามหมื่นปี, โดยเลี้ยงแม่โคนมไว้ และปล่อยให้เที่ยวกินหญ้าอยู่ในป่าหิมพานต์นั้นนับได้ถึง 500 ตัว, ในทุกๆ เช้าแม่โคทั้งหมดจะเดินกลับมาบริเวณอาศรม แล้วหยดนมลงไว้ในอ่างที่ใช้รองรับน้ำนมจนเต็ม โดยแม่โคทำอย่างนี้ทุกวัน เมื่อถึงเวลาฉันอาหาร พระฤาษีทั้งสี่ก็จะมานั่ง รายรอบอ่างและฉันน้ำนมนั้นเป็นอาหาร, โดยใกล้ๆ อ่างนมนั้นมีนางกบตัวหนึ่งอาศัยอยู่, โดยเมื่อฤาษีฉันนมแล้วก็มักจะให้น้ำนมนั้นเป็นอาหารแก่นางกบเสมอมา,

วันนี้ก็เป็นดังเช่นทุกๆ วันที่ผ่านมา พระฤาษีทั้งสี่ก็มานั่งประชุมกันเสร็จแล้ว ก็ฉันน้ำนมจากอ่างนั้น และแบ่งให้ นางกบ ได้กินจนอิ่มหนำ เสร็จแล้วก็เข้าป่าไปดังที่เคยทำมา

มีนางนาคี ธิดาองค์หนึ่งของพญากาลนาคราช อาศัยอยู่เมืองบาดาล, ด้วยวัยสาวแรกเริ่มมีกำหนัด เกิดความรัญจวนป่วนกายา กินอยู่ไม่เป็นสุข ให้รำลึกถึงแต่บุรุษ ด้วยแรงราคะ, อยู่เมืองบาดาลด้วยความร้อนรน ด้วยไฟแห่งราคะนั้น, ทนไม่ไหวก็ขึ้นมาจากเมืองบาดาล, หวังหาบุรุษเพศเพื่อผ่อนคลายกำหนัดราคะที่รุมเร้า โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นผู้ใด

เมื่อขึ้นมาจากเมืองบาดาลแล้ว มาถึงชายหาดริมทะเล, ก็แปลงกายเป็นสาวสวย เดินนวยนาด, เสาะหาบุรุษมาเสพสังวาส, แต่ก็ไม่พบผู้ใด นางจึงยิ่งร้อนรุ่มใจ, ขณะนั้นก็เหลือบไปเห็นงูดินเพศผู้ตัวหนึ่ง นางก็คิดว่า ถึงไม่ได้บุรุษผู้เป็นมนุษย์หรือเทวดาแต่ก็เป็นเดรัจฉาน ผู้ถือเพศบุรุษ, คงจะช่วยให้คลายร้อนไฟสวาทได้บ้าง, คิดดังนั้นนางก็กายร่างเป็นพญานาคแล้วเลื้อยเข้าไปสู่สมภิรมย์ขวัญกับงูดินเพศผู้ตัวนั้น, เกี้ยวกวัดพันกาย เสพสมอารมณ์หมายดังใจปรารถนา ด้วยอำนาจแห่งไฟราคะ

ขณะนั้น พระฤาษี ทั้งสี่, เดินผ่านมามองเห็นนางนาคี กำลัง เริงโลกี กับงูดิน, ก็หยุดดูอยู่ครู่หนึ่ง ในจิตก็คิดว่าเหตุใด นางนาคีผู้นี้มีชาติกำเนิดเป็นถึงพญานาค แต่กลับสมสู่กับงูดินผู้มีชาติเกิดที่ต่ำต้อย, มิกลัวเสื่อมเสียไปถึงวงศ์พญานาคแห่งบาดาลหรืออย่างไร, ว่าแล้วจึงเอาไม้เท้านั้นสะกิดที่ขนดปลายหางของนางนาค เพื่อให้นางได้รู้สึกตน แต่นางกลับมิได้รู้สึกอะไร, ฤาษีจึงเอาไม้เท้านั้นเคาะไปที่กลางกายอีกทีหนึ่ง, นางถึงได้รู้สึกตัว กลับออกจากความลุ่มหลงรสสวาทนั้นได้

เมื่อเหลือบเห็นหน้า ฤาษี ทั้งสี่ก้รู้สึกอับอาย แทรกกายหนีลงดินหลบหนีกลับไปยังเมืองบาดาลทันที เมื่อฤาษีเห็นนางจากไปแล้วก็ไม่ได้สนใจจึงเดินทางกลับมายังอาศรมของตนต่อไป

นางนาคี เมื่อกลับไปถึงบาดาล ก็ยังคิดยังรู้สึกอับอายต่อการกระทำของตนอยู่, ที่พระฤาษีนั้นได้มาพบเห็น, อีกทั้งยังเกรงอาญา หากว่าบิดา พญากาลนาคราช ล่วงรู้การกระทำน่าละอายนี้ มีโทษถึงสิ้นชีวิต เป็นแน่แท้, นางจึงคิดว่ามีทางเดียวที่จะป้องกันได้ มิให้ผู้ใดล่วงรู้การนี้ คือต้องกำจัดฤาษีทั้งสี่นี่ให้ตายตกเสียให้สิ้น, คิดดังนั้นจึงขึ้นจากเมืองบาดาลไปยังอาศรมของพระฤาษี, เห็นอ่างน้ำนมที่แม่โค หยดทิ้งไว้ วางอยู่ จึงรีบคายพิษพญานาคใส่ไว้ในอ่างน้ำนมนั้นทันที แล้วรีบหนีกลับเมืองบาดาล

นางกบอยู่ในเหตุการณ์ และเห็นการกระทำของนางนาคีโดยตลอด, เห็นว่านางนาคีกำลังคิดทำร้ายชีวิตผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูตน ด้วยความ กตัญญู รู้คุณต่อพระฤาษี นางกบตัวนี้จึงกระโจนลงในอ่างน้ำนมนั้น เสียชีวิตในทันทีด้วยพิษพญานาค ลอยล่องอยู่ในอ่างน้ำนม เพื่อให้ฤาษีเห็นว่าน้ำนมนั้นมีพิษ

ครั้นเช้าวันรุ่งขึ้น ถึงเวลาฉัน ฤาษีทั้งสี่ก็มาประชุมเรียงรายกันที่ อ่างน้ำนมดังเดิม แต่กลับพบว่าในอ่างนั้นมี นางกบ ตายลอยอยู่ จึงมิได้ดื่มกินน้ำนมจากอ่างนั้น, แถมยังรู้สึกรังเกียจนางกบ แลคิดว่าอันกบนี้เป็นชาติเดียรัจฉานสันดานโลภอาหาร, เพียงแบ่งออกมาให้ดื่มกินยังมิหนำใจ, โดดไปหวังดื่มกินในอ่างจนจมน้ำนมถึงแก่ความตาย, จึงคิดจะชุบชีวิตให้ฟื้นคืนมาเพื่อซักถาม ว่าที่เลี้ยงดูให้กินอิ่มหนำไม่พอใจหรืออย่างไร, ว่าแล้วก็เป่ามนต์ลงไปที่ตัวกบ ด้วยอำนาจของฤทธามหาเวทย์ นางกบนั้นฟื้นคืนชีพ, เมื่อนางกบฟื้นแล้ว ฤาษีก็ต่อว่า, นางกบจึงได้เจรจาไปว่าการที่ ตนสิ้นใจก็ด้วยพิษนางนาคา ที่มาคายลงอ่างนมนี้ ประสงค์ทำลายชีวิตพระคุณเจ้าทั้งหมด

หาได้มีความโลภอาหารอย่างไม่ ด้วยบุญคุณท่านเลี้ยงมา จึงโดดลงอ่างน้ำนมจนตายท่านจะได้ รังเกียจมิได้กินน้ำนม ที่เจือพิษนาคีเหล่านี้

เมื่อฤาษีได้ฟัง ก็รู้สึกเมตตา, และทราบซึ้งในบุญคุณของนางกบ จึงคิดชุบกายให้กลายเป็นคน, ให้มีความงามเลิศล้นในสามภพ ว่าแล้วก็ตั้งพิธีกองกูณฑ์อัคคี บูชาไฟ, โยนนางกบลงไปในกองไฟ แล้วร่ายพระเวทย์ บังเกิดเป็นหญิงสาวสุดแสนจะงดงาม มิมีนางฟ้านางสวรรค์ชั้นใดๆจะงดงามเทียบได้, แล้วตั้งชื่อให้ว่า “มณโฑ” แปลว่า นางผู้มีชาติกำเนิดมาจากกบ.