ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

มอง “พม่า” ผ่านสายตา “สำหรุดปาน” ชาวสงขลาที่เดินทางไปแสวงบุญเมื่อร้อยปีก่อน

มอง “พม่า” ผ่านสายตา “สำหรุดปาน” ชาวสงขลาที่เดินทางไปแสวงบุญเมื่อร้อยปีก่อน

เจดีย์ชเวดากอง ภาพถ่ายราวปี คงศ. 1895-1915

นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง สะท้อนให้เห็นโลกทรรศน์ของสำหรุดปานที่ทับซ้อนกันสองโลก โลกด้านหนึ่งคือโลกในระดับโลกิยะ การมองโลกเชิงประจักษ์ ดังจะเห็นได้จากการที่สำหรุดปานให้ความสำคัญกับการบรรยายรายละเอียดการเดินทาง สภาพบ้านเมืองและสิ่งต่าง ๆ ที่ตนได้ประสบพบเห็นด้วยตนเอง โลกอีกด้านหนึ่งที่สำหรุดปานให้ความสำคัญสูงกว่าคือโลกในระดับโลกุตระ ดังจะเห็นได้จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการเดินทางจาริกแสวงบุญนมัสการพระบรมธาตุยังดินแดนพม่า และยิ่งไปกว่านั้นได้แต่งหนังสือสวดนี้ไว้เพื่อให้นำไปใช้อ่านและสวดให้ญาติพี่น้องมิตรสหายที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางมานมัสการพระธาตุด้วยตนเองได้ร่วมฟังและตั้งจิตอนุโมทนาบุญร่วมกัน

พม่าในวิถีโลกย์ ดินแดนพม่าเมื่อครั้งสำหรุดปานเดินทางไปนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและสูญสิ้นราชวงศ์พม่าแล้ว พระเจ้าธีบอกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์คองบองของพม่าถูกอังกฤษถอดจากราชบัลลังก์และนำตัวไปคุมขังไว้ที่เมืองรัตนคีรี บริติชอินเดีย สภาพการณ์ความเป็นไปของพม่าเช่นนี้ไม่ได้เกินเลยความรับรู้ของสำหรุดปาน สันนิษฐานได้ว่าการที่เขาเป็นคนสะเดา ซึ่งอยู่ในเขตต่อแดนบริติชมลายา และเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไปสู่ฝั่งอันดามันนั้น ข่าวสารบ้านเมืองต่าง ๆ ของเมืองพม่าย่อมไหลผ่านจากพ่อค้านักเดินทางหรือแม้กระทั่งพระภิกษุที่เดินทางจาริกแสวงบุญเล่าสู่ต่อ ๆ กันมา สำหรุดปานได้ถ่ายทอดเหตุแห่งโศกนาฏกรรมที่พม่าตกเป็นอาณานิคมอังกฤษไว้ในงานของเขาด้วย

“…จักกล่าวราวเรื่องบุรี   เจ้ากรุงธานี
อังกฤษหมันจับไปนาน
ยังแต่ปราสาทโอฬาร   สองยอดวิตถาร
ตึกร้านบ้านเรือนยังอยู่
กำแพงหน้าล่องช่องประตู   สำหรับรบสู้
ข้าศึกนึกมาโดยหวัง
ขุดคูลึกลับคับคั่ง   กว้างสุดกำลัง
ทำเป็นรั้ววังภายนอก
ดูกว้างเหลือแปดสิบศอก   ลึกไม่พักบอก
ถูกข้ามกับนาวาแพ
ภายนอกบอกไว้ให้แท้   สายโซ่ใส่กะแจ
วงไปจนรอบขอบคู
หวนอกบอกไว้ให้รู้   กำชับใครสู้
พวกฝรั่งยังเอาเสียได้
พระยานั้นเป็นคนมักง่าย   ไม่รู้สึกกาย
จนได้ฝรั่งจับไปเสีย
ภายหลังยังแต่ลูกเมีย   ฝรั่งพาไปเสีย
แล้วมาเอาเมียตามไป
ยังแต่บ้านเมืองเวียงชัย   ขุนนางน้อยใหญ่
ตามใจฝรั่งทั้งสิ้น
ข้าจักบอกไว้ให้ยิน   เป็นเจ้าแผ่นดิน
ยังกินหลอนพวกมิจฉา…”

ชาวพุทธในพม่าถือพระพุทธรูปบริเวณที่ตั้งของเจดีย์ชเวดากอง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2016 ซึ่งเป็นวันฉลองปีใหม่ตามประเพณีของชาวพม่าหลังเทศกาลเล่นน้ำ คล้ายกับเทศกาลสงกรานต์ของไทย (AFP PHOTO / ROMEO GACAD)

น้ำเสียงของเขาดูจะสลดใจกับชะตากรรมความเป็นไปของกษัตริย์พม่า และออกจะขุ่นข้องใจไม่น้อยเมื่อกล่าวถึงเหล่าขุนนางพม่าที่ต้องมาอยู่ใต้อำนาจของ “ฝรั่ง” อังกฤษ ทำตามที่อังกฤษสั่งการ เราไม่อาจทราบได้เลยว่าสำหรุดปานจะล่วงรู้หรือไม่ว่าราชวงศ์ที่สูญสิ้นไปนี้คือราชวงศ์เดียวกันกับที่กรีธาทัพมาบุกโจมตีหัวเมืองปักษ์ใต้รวมถึงการเผาทำลายกรุงศรีอยุธยา แต่ที่แน่ ๆ คือไม่ปรากฏการกล่าวโทษหรือซ้ำเติมการล่มสลายของราชอาณาจักรพม่าภายใต้ราชวงศ์คองบองว่าเป็น “ผลกรรม” อันใหญ่หลวงที่เคยได้ทำกับราชอาณาจักรอยุธยาไว้ก่อน!

จากการอ่านนิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง ทำให้ผู้เขียนพบว่าชาวบ้านในหัวเมืองภาคใต้อย่างสงขลา และอย่างสำหรุดปานที่อยู่สะเดานั้น สันนิษฐานว่าคงมีโอกาสได้เดินทางค้าขายทั้งสองฟากฝั่งอ่าวไทย และข้ามไปยังแดนบริติชมลายาจนมีความคุ้นชินกับสภาพบ้านเมืองที่ถูกเปลี่ยนโฉมหน้าให้มีความเป็นสมัยใหม่ตามแบบตะวันตก ตึกฝรั่ง ห้างร้าน เรือยนต์ รถไฟ และผู้คนนานาภาษาและชาติพันธุ์ดูจะไม่เป็นที่ตื่นตาตื่นใจในสายตาของสำหรุดปานมากนัก ถ้อยคำที่สำหรุดปานบรรยายเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองในปีนังและดินแดนพม่าไม่มีตรงใดที่ส่อว่าสำหรุดปานเป็น “บ้านนอกเข้ากรุง”

เมืองที่สำหรุดปานใช้เวลาอยู่มากที่สุดคือเมืองย่างกุ้ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของพม่าสมัยอาณานิคม อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สำหรุดปานดูจะชื่นชอบเมืองย่างกุ้งอยู่มิใช่น้อย เขาได้บรรยายถึงการเดินเที่ยวชมตลาดและร้านรวงที่มีข้าวของสารพันอย่างวางขาย

“…ชมตลาดไปพลางกว้างใหญ่   หวางจะถึงรถไฟ
ชมไปทุกร้านบ้านเรือน
พวกพม่างามงามเหมือนเหมือน   อยู่ไม่เลื่อนเปื้อน
พอเหมือนพองามตามกัน
ลังร้านขายถ้วยขายขัน   มีครบทุกพรรณ
ลังบางขายมันเครื่องหอม
ลังร้านนั่งขายหนุมค่อม [1]   หัวเทียมหัวหอม
หนุมค่อมหนุมซั่ง [2] ยังโข
ลังร้านขายอ่างขายโอ   ถ้วยจานพานโถ
มากโขมีครบจบไป…”

เมืองย่างกุ้งในปี ค.ศ. 1941

อย่างไรก็ตามความรู้สึกของสำหรุดปานดูจะเปลี่ยนไปเมื่อเดินทางไปถึงเมืองมัณฑเลย์ ซึ่งอยู่ทางพม่าตอนบน สันนิษฐานว่าสำหรุดปานคงจะไม่ชินกับลักษณะของบ้านเมืองที่อยู่ทางตอนในที่ไม่ติดทะเลนัก น้ำเสียงเขาออกไปทางบ่นกระปอดกระแปดว่าคนเมืองนี้ไม่รู้จักนกเขาชวา และยังไม่มีมะพร้าวอีกด้วย “…เมืองนั้นลำบากสิ้นที หมากเพราไม่มี กินของลูกค้าพามา…” ส่วนอาคารบ้านเรือนในมัณฑเลย์ ตึกใหญ่บ้านคหบดีมีฐานะมีให้เห็นอยู่ก็จริง แต่บ้านเรือนของชาวบ้านนั้นดูอัตคัดขัดสนเป็นอย่างมาก แม่ค้าที่ทูนสินค้าเหนือศีรษะก็ต้องคอยหลบหลีกนกเหยี่ยวที่บินโฉบกันให้ว่อน…

นวัตกรรมของโลกสมัยใหม่ยุคอาณานิคมที่ดูจะตื่นตาตื่นใจแก่สำหรุดปานมากที่สุดเห็นจะเป็นสิ่งใดไม่ได้นอกจากสวนสัตว์เมืองย่างกุ้ง สัตว์ไม่ใช่ของแปลกในวิถีชาวบ้านอย่างสำหรุดปาน แต่ที่ประหลาดคือความสามารถของมนุษย์ในการเสาะแสวงหาสรรพสัตว์นานาชนิดและนำมาอยู่รวมกันในที่เดียว สวนสัตว์สัญญะแห่งอำนาจของมนุษย์ที่มีเหนือธรรมชาติสร้างความประทับใจให้สำหรุดปานจนนำมาพรรณนาไว้อย่างละเอียด

“…ข้อหนึ่งเล่าหนา   เที่ยวหาสัตว์   ขังไว้เป็นแห่ง
มีครบทุกสิ่ง   ไม่ได้คลั่งแคลง   ขังไว้เป็นแห่ง
เอาเงินคนแล
แรดช้างกวางทราย   สัตว์อยู่ปลายไม้   ลิงค่างกระแต
จังเหลนจีนจก   คางคกตุ๊กแก   ผึ้งกาแลนแย้
เสือสางกะมี
หลายหลากมากมาย   นับพันธุ์ไม่ได้   สมเสร็จหมูหมี
นกอยู่ในดิน   เที่ยวเก็บมาสิ้น   นกดำพาที
อูฐอยู่บิลพั   บรรดาพันธุ์สัตว์   จัดไว้ถ้วนถี่
สัตว์อยู่ปลายไม้   นับพันธุ์ไม่ได้   กะบ่างชะนี
มากล้วนถ้วนถี่   ขาดแต่กระทิง
พันธุ์สัตว์ในป่า   เที่ยวเก็บเอามา   ขาดแต่ทากปลิง
พันธุ์สัตว์ใหญ่ใหญ่   มีครบจบไป   ขาดแต่กระทิง
สัตว์เล็กทากปลิง   หาไม่ได้ท่านอา…”

ภาพถ่ายกรุงย่างกุ้งเมื่อ ค.ศ. 1945

สำหรับคนไทยอย่างสำหรุดปานแล้ว สวนสัตว์นับว่าเป็นของแปลกใหม่ เพราะในช่วงเวลานั้นยังไม่มีในเมืองไทย แม้ว่า “เขาดินวนา” จะเริ่มมีขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็เป็นเพียงสวนกวางดาวที่พระองค์ทรงนำมาจากเกาะชวานำมาเลี้ยงไว้ในเขตพระราชอุทยาน กว่าจะมีการเปิดสวนสัตว์เพื่อให้ประชาชนเข้าชมได้นั้นก็ล่วงไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่บริเวณสวนดุสิต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เพื่อให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสัตว์ และเป็นที่พักผ่อนของประชาชน ส่วนสวนสัตว์ในภาคใต้ ได้แก่ สวนสัตว์สงขลาเพิ่งเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2532 แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2541

ถ้าหากจะถามถึงความสวยความงามของบ้านเมืองพม่าระดับตาเนื้อที่ประทับตราตรึงอยู่ในจิตใจสำหรุดปานแล้วคงจะไม่มีสถานที่แห่งใดงดงามเทียบเคียงพระมหาเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้งได้ สำหรุดปานและคณะพำนักอยู่ที่เมืองย่างกุ้งเป็นเวลา 3 วัน ตลอดช่วงที่อยู่นี้ต่างเวียนกันขึ้นไปสักการะพระมหาธาตุชเวดากองทั้งวัน

สำหรุดปานได้พรรณนาถึงความงดงาม วิจิตรอลังการของพระบรมธาตุชเวดากองสีทองอร่าม และสถาปัตยกรรมอันตระการตา ทั้งวิหาร ศาลา เจดีย์น้อยใหญ่ พระพุทธรูปต่าง ๆ ที่อยู่รายรอบลานพระธาตุทั้งหมดล้วนฉาบทาด้วยสีทอง ประดับด้วยเพชรนิลจินดา กระจกแวววาวระยิบระยับ ประกอบกับงานไม้แกะสลักเสลาชดช้อยที่มีอยู่โดยทั่ว

“…พิจหนาพระธาตุน้อยใหญ่   ตั้งวาวัดไป
พอได้เสร้อยสิบสอง
ไม่เห็นอิฐปูนล้วนทอง   ขอแรโดยปอง
รายรอบหัวแหวนเพชรนิล
ประมาณได้เท่าโอ่งทั้งสิ้น   ประดับด้วยเพชรนิล
นับสิ้นครบสามสิบหัว
ใบทั้งบนยอดไม่ชั่ง   ใหญ่เท่าใบบัว
ล้วนทองไม่ปนสิ่งใด…”
“…รอบตีนพระธาตุศาสดา   แต่ล้วนมีค่า
ดับเพชรนิลสิ้นไป
ตั้งแต่เสาวิหารใน  ทั้งน้อยทั้งใหญ่
ดับจกดับแก้วแววพราย
ไม่เห็นอิฐปูนเนื้อไม้  บรรดาทั้งหลาย
ดับจกดับมุกทุกพรรณ…”

ภาพบริเวณลานกว้างรอบเจดีย์ชเวดากองของพม่า ภาพวาดสีน้ำฝีมือของ ร.ท. โจเซฟ มัวร์ แห่งกองร้อยที่ 89 กองทัพอังกฤษ

…นอกจากนี้ผู้เขียนสันนิษฐานว่าอาจจะด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมการสร้างพระเจดีย์ พระธาตุของบ้านเมืองในฝั่งไทยนั้น ผิดไปจากฝั่งพม่ามอญที่มักจะหุ้มองค์พระเจดีย์องค์พระธาตุด้วยแผ่นทอง หรือฉาบทาด้วยสีทอง ตกแต่งด้วยอัญมณีมีค่านานาชนิด แต่พระเจดีย์พระธาตุในไทยนั้นมักจะเป็นการก่ออิฐถือปูนเท่านั้น

สำหรุดปานเองได้แสดงข้อสังเกตเปรียบเทียบพระบรมธาตุเมืองนคร กับพระบรมธาตุในเมืองพม่าไว้ในงานประพันธ์ของเขาเช่นเดียวกัน “เสียดายพระธาตุเมืองเรา มีแต่ปูนเปล่า ของประหลาดต่างต่างไม่มี หงสาอังวะบุรี ย่างกุ้งธานี ดับจกดับมุกทุกพรรณ” ด้วยเหตุนี้เมื่อนักท่องเที่ยวชาวไทยในปัจจุบันไปเยือนพม่าจึงยังคงวนเวียนถามแต่เรื่องพม่าขโมยทองกรุงศรีอยุธยาอยู่ร่ำไป

จากประสบการณ์การเดินทางของสำหรุดปานนี้ เขาได้พบพานชาวพม่าพุทธศาสนิกชน ผู้อารีมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือสำหรุดปานและพระบุตรชายอยู่เป็นระยะ ๆ ตลอดการเดินทาง แม้ว่าสำหรุดปานและชาวพม่าจะ “แหลง” หรือพูดจากันไม่รู้เรื่อง เพราะไม่รู้ภาษาของกันและกัน แต่ชาวพม่าที่สำหรุดปานพบก็ยังพยายามที่จะทำความเข้าใจและมีมิตรจิตมิตรใจต่อกัน ดังจะเห็นได้จากช่วงที่สำหรุดปานและคณะเดินทางจากเมืองมะริดไปเมืองตะนาวศรีก็หยุดแวะพักที่วัดพม่าระหว่างทาง

“…รุ่งเช้าพวกพม่าสีกา   คำรบวันทา
จัดหาโภชนามินาน
จัดแจงข้าวสุกข้าวสาร   เครื่องบรรณาการ
คิดอ่านจนครบทุกพรรณ
ปลาแห้งปิ้งจีทอดมัน   หุงข้าวขึ้นพลัน
ศรัทธาหมายมั่นนักหนา
ปล้ำทำพอรุ่งขึ้นมา   หุงข้าวต้มปลา
ทุกสิ่งนานาครบครัน
สามคนทำให้ได้ฉัน   ไม่ได้แหลงกัน
สักสิ่งสักอันไม่มี
แรกพอเห็นแสงสุรีย์  ขัดใจพ้นที่
สักคำไม่มีได้แหลง
ปล้ำทำให้กินสิ้นแรง   แรกพอรุ่งแจ้ง
หุงแกให้ฉันคุมสาย
พระฉันนั่งยกมือไหว้   ถามข้อต้นปลาย
แหลงกันไม่ได้สักคำ…”

สำหรุดปานบ่นอุบตลอดว่าอึดอัดใจที่ “แหลง” กันไม่รู้เรื่อง ในช่วงที่อยู่พม่าก็ร่วมทาง และพบปะชาวพม่ามากมายแต่ก็ไม่สามารถที่จะสื่อสารกันได้ เขาบ่นเวทนาตนเองอยู่ไม่น้อย ความไม่รู้ภาษานี้เลยทำให้ไม่ได้คุยไม่ได้ซักถามข่าวคราวบ้านเมืองความเป็นไปต่าง ๆ ของคนพม่า อย่างไรก็ตามปัญหาการสื่อสารนี้ก็มิได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นการแสดงมิตรไมตรีต่อกัน ด้วยสำหรุดปานมีประสบการณ์ตรงที่ประทับใจเช่นนี้จึงไม่แปลกที่เขาจะเขียนชื่นชมชาวพม่า และแสดงความปรารถนาที่จะได้พูดจาปราศรัยกับคนพม่าด้วย

อ้างอิง :

[1] หนุมค่อม เป็นภาษถิ่นใต้ หมายถึงขนมค่อม เป็นขนมชนิดหนึ่งที่ทำด้วยแป้งข้าวเหนียวใส่ไส้ลูกเล็ก ๆ ห่อด้วยใบตองมีสามมุมรูปทรงปิระมิด หรือทรงสามเหลี่ยม

[2] หนุมชั่ง เป็นภาษาถิ่นใต้ หมายถึงขนมชั่ง เป็นขนมชนิดหนึ่งคล้ายขนมค่อมแต่มีขนาดใหญ่กว่าทำด้วยข้าวเหนียวมีทั้งที่ใส่ไส้และไม่ใส่ไส้ ห่อด้วยใบไม้ไผ่ผูกเป็นช่อหรือเป็นพวงหลายลูก

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง : เมืองพม่าในสายตาคนปักษ์ใต้” เขียนโดย ดร. ภมรี สุรเกียรติ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2564

https://www.silpa-mag.com

The post มอง “พม่า” ผ่านสายตา “สำหรุดปาน” ชาวสงขลาที่เดินทางไปแสวงบุญเมื่อร้อยปีก่อน appeared first on Thailand News.