ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

รามเกียรติ์

รามเกียรติ์ ตอนที่ 3 สหบดีพรหมสร้างกรุงพิชัยลงกา

ท้าวสหบดีพรหมผู้เป็นใหญ่ในพรหมโลก เกรงว่าจะไม่มีผู้สืบเชื้อสายพรหมในโลกมนุษย์ ก็นึกถึง ท้าวสหมลิวัน ึ่งมีเชื้อสายพรหมผู้ครองรังกาทวีป แต่เมื่อรบกับพระนารายณ์ แล้วพ่ายแพ้ จึงจำต้องหนีไปอยู่ที่เมืองบาดาล ทำให้รังกาทวีปขาดคนปกครองกลายเป็นเมืองร้าง ท้าวสหบดีพรหม จึงคิดสร้างเมืองขึ้นมาใหม่บนรังกาทวีป และจะเชิญท้าวธาดาพรหมไปปกครอง แล้วสั่งท้าวอัชดาพรหม ให้เตรียมเกณฑ์ไพร่พลเหล่าพรหมทั้งหลายไปสร้างเมืองที่ เกาะรังกา

จากนั้นก็ทรงพญาหงส์ทอง บินมุ่งหน้าไปยังรังกาทวีป เมื่อมาถึงก็มองเห็นภูเขาลูกหนึ่ง ตั้งอยู่กลางทวีป เป็นภูเขาสูงเยี่ยมเทียมเมฆสีดำสนิท สูงกว่าบรรดาภูเขาทั้งปวง มีชื่อว่า “นิลกาลาสิงขร” บนยอดเขานั้นมีรังกา มหากายสิทธิ์ จึงเห็นว่าเป็นชัยภูมิที่ดีในการตั้งพระนคร จึงมีบัญชาสั่งให้พระวิษณุพรหม ไปเนรมิตมหานครขึ้นไว้ตรงนั้น เมื่อวิษณุพรหมได้รับคำสั่งก็ออกมาเนรมิตมหานครขนาดใหญ่ มีมหาปราสาทสามองค์ แต่ลงค์มียอดพรหมพักตร์ ห้ายอดสูงใหญ่ งดงามดั่ งวิมานบนสวรรค์ แล้วก็ให้มหาสุทรใหญ่นั้นเป็นปราการป้องกันเมือง ให้ปลาและเหรา (จระเข้)และสัตว์น้ำคอยดูแลใต้น้ำ แล้วให้ยักษ์ผีเสื้อ เป็นยักษ์ที่คอยดูแลป้องกันเมืองในน้ำ และสั่งให้ยักษ์ฤทธิกัน คุมทหารยักษ์จำนวนแสนโกฏิ ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทางอากาศให้กับพระนคร

เมื่อเสร็จแล้ว ท้าวสหบดีพรหมก็ตั้งชื่อเมืองว่า “พิชัยลงกา” แล้วก็นำเอาอสูรยักษ์จากเนินเขาอัสสกัณฑ์ อีกจำนวนแสนโกฏิมาเป็นเหล่าเสนายักษ์ในกรุงลงกา จากนั้นก็อัญเชิญท้าวธาดาพรหมขึ้นเป้นกษัตริย์ครองกรุงพิชัยลงกา นามว่า “ท้าวจตุรพักตร์” (แปลว่า ผู้มีสี่หน้า เนื่องจากเป็นเชื้อสายพรหม) แล้วจึงให้นาง “มลิกา”เป็นมเหสีและให้นางยักษ์อีกหกหมื่นตน ให้เป็นสนม จากนั้นก็ประทานอาวุธวิเศษเอาไว้รักษาพระนคร ได้แก่ ตรีศูล คทา และฉัตรแก้วโมลี พร้อมบอกมนต์วิเศษวิธีใช้ให้ และบอกว่าเมื่อใดมีข้าศึกประชิดเมืองให้กางฉัตรแก้วขึ้นกลางกรุงลงกา ฉัตรนี้จะบดบังแสงพระอาทิตย์ ท้องฟ้ามืดมิดเหล่าบรรดาข้าศึกจะมองไม่เห็นกรุงลงกา แต่ฝ่ายผู้ที่อยู่ในกรุงลงกาจะมองเห็นข้าศึกทั้งหมดสิ้น ฉัตรแก้ววิเศษนี่จะเป็นที่กลัวเกรงทั้งอินทร์ทั้งพรหม เมื่อประทานพระเวทและอาวุธศักดิ์สิทธิ์ ไว้แก่กรุงพิชัยลงกาเรียบร้อยแล้ว ท้าวสหบดีพรหมก็ขึ้นทรงพญาหงส์ทองกลับสู่พรหมโลก

ท้าวจตุรพักตร์ และนางมลิกาก็ครองกรุงพิชัยลงกาสืบมา