ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”!

การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”!

ยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชมังกะยอชวา (หรือมังสามเกียดที่เรารู้จักกันในประวัติศาสตร์ไทย) ในพ.ศ. 2135 นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ถูกเน้นย้ำถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งตำราเรียน การ์ตูน รวมไปถึงภาพยนตร์ ซึ่งชื่อเสียงและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรในสงครามครั้งนี้ทำให้ผู้คนจำนวนมากเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อสักการะเจดีย์แห่งนี้

อย่างไรก็ตามเจดีย์ยุทธหัตถีที่เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นหลังจากที่พระนเรศวรเอาชนะพระมหาอุปราชได้ในศึกคราวนั้น กลับพึ่งค้นพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตลอดรัชสมัยในรัชกาลที่ 6 นโยบายชาตินิยมที่มุ่งเน้นการยกย่องวีรบุรุษของชาติ เช่น พระร่วง สมเด็จพระเจ้าตากสิน และสมเด็จพระนเรศวร ถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการปลุกจิตสำนึกให้คนไทยรักและหวงแหนชาติบ้านเกิดเมืองนอน โดยเฉพาะกรณีของสมเด็จพระนเรศวรดูเหมือนว่าจะทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษในฐานะวีรบุรุษสงครามผู้กอบกู้เอกราชของชาติไทย

ดังนั้นแล้วพระบรมราโชบายชาตินิยมต่าง ๆ ในรัชกาลที่ 6 จึงได้พยายามที่จะเชื่อมโยงพระราชกรณียกิจในพระองค์กับพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนเรศวร เช่น การก่อตั้งกองเสือป่า ซึ่งนับได้ว่าเป็นนโยบายชาตินิยมที่สำคัญที่สุดที่มุ่งหวังที่จะปลูกฝังข้าราชการประชาชน ให้มีความรักและหวงแหนชาติบ้านเกิดเมืองนอน ด้วยการสมัครเข้าเป็นสมาชิกเสือป่า เพื่อจะได้ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติจากการรุกรานของอริราชศัตรู โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำชื่อหน่วย “เสือป่าแมวเซา” ซึ่งเป็นหน่วยทหารที่ทำหน้าที่สอดแนมข้าศึกของสมเด็จพระนเรศวรมาตั้งชื่อให้กับ “กองเสือป่า” ในพระองค์ (Stephen L. Greene, 1999, p. 41)

การมีชัยในสงครามยุทธหัตถีทำให้สถานะวีรบรุษสงครามของสมเด็จพระนเรศวรมีความพิเศษเหนือพระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ไทย อย่างไรก็ตามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 การถกเถียงถึงการเกิดขึ้นจริงของสงครามยุทธหัตถี และการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารพระมหาอุปราชได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อพม่าได้นำเสนอพงศาวดารฉบับหอแก้ว (Hmannan Maha Yazawindawgyi) ในพ.ศ.2375 ซึ่งอธิบายว่าสมเด็จพระมหาอุปราชทรงสิ้นพระชนม์เพราะถูกยิง (Barend Jan Terwie, 2013, p. 25) พงศาวดารดังกล่าวทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าสงครามยุทธหัตถีนั้นได้เกิดขึ้นจริงหรือไม่

เพื่อตอบโต้พงศาวดารฉบับหอแก้ว สยามได้เริ่มต้นตั้งหอสมุดสำหรับพระนครขึ้นโดยมีหน้าที่ชำระ รวบรวม จัดพิมพ์ และเผยแพร่ ความรู้ต่าง ๆ ของชาติไทยขึ้น รวมทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามยืนยันการมีอยู่จริงของสงครามยุทธหัตถี ผ่านงาน “พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์” ซึ่งหอสมุดค้นพบใน พ.ศ. 2450

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงต้องการใช้ภาพลักษณ์วีรบุรุษสงครามในสมเด็จพระนเรศวรเพื่อสนับสนุนพระบรมราโชบายชาตินิยม ด้วยเหตุนี้การเริ่มต้นสำรวจทางโบราณคดีเพื่อค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถีซึ่งเชื่อว่าถูกสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ชนช้าง อันจะเป็นการยืนยันว่าสงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริงจึงเริ่มต้นขึ้น ใน พ.ศ. 2456 เมื่อพระยาสุนทรสงคราม (อี้ กรรณสูต) ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งพยายามค้นหาเจดีย์ดังกล่าว โดยใช้ข้อมูลจากพระราชพงศาวดารที่บันทึกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2846 – 2847) ได้ค้นพบพระเจดีย์ขนาดใหญ่ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมตั้งอยู่กลางป่า ณ บริเวณลำน้ำบ้านคอย ในแขวงเมืองสุพรรณ เจ้าพระยาสุนทรสงครามจึงได้ให้ช่างถ่ายรูป ประกอบทำแผนที่ระยะทาง และทำหนังสือกราบบังคมทูลแก่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2456

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับหนังสือที่เจ้าพระยาสุนทรสงครามทูลเกล้าถวายแล้ว ทรงมีพระราชดำริว่าเรื่องพระเจดีย์ที่เจ้าพระยาสุนทรสงครามพบนั้นน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2841) และเพื่อยืนยันว่าเจดีย์ที่พระยาสุนทรสงครามค้นพบนั้นเป็นของจริง รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีขุดค้นพื้นที่รอบพระเจดีย์ เพื่อค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีที่หลงเหลือจากสงครามในคราวนั้น ซึ่งในรายงานที่ทูลเกล้าถวายฯ พระองค์ ก็ปรากฏว่ามีการค้นพบอาวุธโบราณถูกฝังอยู่บริเวณดังกล่าว ทั้งธนูโบราณ ปืนใหญ่ ธงไชยนำพระคชาธารของกองทัพสมเด็จพระนเรศวร (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2846)

หลังจากที่มีการค้นพบเจดีย์ยุทธหัตถีแล้ว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระเจดีย์แห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2456 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเสือป่าหลวงรักษาพระองค์ เสือป่ามณฑลนครไชยศรี และลูกเสือหลวงโรงเรียนมหาดเล็ก รวมกว่า 400 คน เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคจากพระราชวังสนามจันทร์เพื่อไปนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถี

กระบวนเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคถึงพระเจดีย์ยุทธหัตถีในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2456 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกราบนมัสการพระเจดีย์ยุทธหัตถีแล้ว พระยาสุนทรสงครามได้ทูลเกล้าถวายสิ่งของโบราณที่พบในบริเวณรอบ ๆ พระเจดีย์ยุทธหัตถี หนึ่งในของโบราณที่ค้นพบคือ วชิระ ซึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์ยอดหนึ่ง โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นยอดธงไชยนำพระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งในคำกราบบังคมทูลรายงานของพระยาสุนทรสงคราม ก็ได้พยายามผูกโยงภาพลักษณ์ของวีรบุรุษสงครามกับรัชกาลที่ 6 โดยพระยาสุนทรสงครามได้รายงานว่าการค้นพบ “วิชระ” ในคราวนี้ว่า “… เป็นของซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตั้งพระราชหฤทัยประทานไว้สำหรับพระองค์ให้เป็นสวัสดิมงคล สนองพระราชอุสาหะ …” (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2847)

ต่อมาในวันที่ 28 มกราคม ได้มีการทำพิธีบวงสรวง และสมโภชพระเจดีย์ โดยมีบรรดาเสือป่า ลูกเสือ ตำรวจ ทหารเข้าร่วมในพิธี ซึ่งในครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำหน้าที่ผู้บังคับบัญชากองผสมด้วยพระองค์เองในพิธีคราวนี้ (ราชกิจจานุเบกษา, น. 2847)

นอกจากนี้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์สองเล่มที่มีส่วนสำคัญในการยืนยันว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับมังกะยอชวา คือ ไทยรบพม่า และ พระประวัติสมเด็จพระนเรศวร งานทั้งสองชิ้นได้บรรยายฉากรบระหว่างทั้งสองพระองค์และสรุปว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงสังหารมังกะยอชวาสิ้นพระชนม์คาคอช้างในยุทธหัตถีคราวนั้น

ด้วยเหตุนี้เองตำนานการชนช้างระหว่างสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระมหาอุปราชจึงได้ถูกยืนยันว่ามีอยู่จริง ผ่านการค้นพบเจดีย์ยุทธหัตถีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และถูกบันทึกสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_22125

The post การค้นพบหลักฐาน “เจดีย์ยุทธหัตถี” ที่ใช้ยืนยันตำนานพระนเรศวรชนช้างเป็นเรื่อง “จริง”! appeared first on Thailand News.