ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ทางรถไฟสายมรณะ อยู่ในไทย แต่ไม่ใช่ของไทย และไทย[จำต้อง]ซื้อ

ทางรถไฟสายมรณะ อยู่ในไทย แต่ไม่ใช่ของไทย และไทย[จำต้อง]ซื้อ

สะพานข้ามแม่น้ำแคว (ภาพจาก “หนังสือพิมพ์โรงพิมพ์การรถไฟ พ.ศ. 2514” ของคุณประวิทย์ สังข์มี)

ที่มา
เสมียนนารี
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2565

หากกล่าวถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งหนึ่งที่หลายคนคิดถึงกันก็คือ “ทางรถไฟสายมรณะ” ที่จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย บรรจุเป็นแผนกิจกรรมให้เห็นอยู่เสมอ แต่ทางรถไฟสายนี้ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของไทย แม้มันจะอยู่ในประเทศไทย และเราได้มาด้วยการซื้อขายกันหลังสงครามสิ้นสุด

รายละเอียดเรื่องนี้ ไกรฤกษ์ นานา เขียนไว้ใน “ใครเป็นเจ้าของ ‘ทางรถไฟสายมรณะ’? ญี่ปุ่นสร้าง ฝรั่งขาย ไทยซื้อ”  พอสรุปได้ดังนี้

วันที่ 20 ธันวาคม 2484 กองทัพญี่ปุ่นก็เริ่มเจรจาขอสร้างทางรถไฟทหารสายใหม่ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งจากสถานีรถไฟสายใต้ของไทยไปยังพม่าถึง 2 เส้นทาง คือ ทางรถไฟสายหนองปลาดุก-กาญจนบุรี-ตันบูซายัด (ทางรถไฟสายไทย-พม่า) หรือทางรถไฟสายมรณะ และทางรถไฟสายชุมพร-กระบุรี (ทางรถไฟสายคอคอดกระ)

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เขียนถึงเหตุผลในการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ของญี่ปุ่นว่า

“เรื่องรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่านี้ มีชื่อเสียงโด่งดังในด้านเศร้าสลดมาก จนทั่วโลกขนานนามว่า ‘รถไฟสายมรณะ’ (The Railway of Death)

เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะเชื่อมการคมนาคมกับพม่าโดยผ่านทางเมืองกาญจนบุรี ฉะนั้นจึงได้เริ่มสำรวจการสร้างทางรถไฟสายนี้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) เริ่มสร้างตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) โดยสร้างพร้อมๆ กันทั้งสองด้าน คือ ทางด้านพม่าเริ่มจากเมืองทันไบยูซะยัดทางภาคใต้ของพม่า ทางด้านไทยเริ่มทางเมืองกาญจนบุรี แต่ภายหลังสร้างได้ไม่กี่เดือน ญี่ปุ่นเสียหายทางทะเลมากขึ้น ญี่ปุ่นเห็นว่าถ้าทางนี้เสร็จได้เร็วก็จะช่วยในเรื่องการขนส่งมาก จึงออกคำสั่งระดมให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) 

แต่เป็นที่ทราบกันแล้วว่าเส้นทางสายนี้ทุรกันดารที่สุด ต้องผ่านทิวเขามากมาย ป่าดงทึบ อากาศก็ร้อนจัด และในภูมิภาคนี้ฝนก็หนัก โรคภัยไข้เจ็บนานาชนิดรุนแรง เครื่องมือสำหรับการช่างก็มีไม่พอ ทหารสัมพันธมิตรซึ่งเป็นเชลยเล่าว่า งานส่วนมากต้องทำโดยใช้เครื่องมือและกำลังแรงเป็นส่วนใหญ่ ญี่ปุ่นเกณฑ์เชลยศึกต่างๆ เอามาใช้ รวมทั้งจ้างเกณฑ์พวกกุลีชาวทมิฬ พม่า ชวา ญวน มลายา และจีน คนงานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเชลยศึกหรือคนงานซึ่งเกณฑ์จ้างต้องทำงานอย่างหนักที่สุด ตั้งแต่เช้าจนค่ำ อาหารก็ไม่พอกิน ที่พักก็ใช้ผ้าใบซึ่งทำเป็นหลังคา ในฤดูมรสุมฝนตกหนักนอนไม่ได้เพราะน้ำท่วม คนงานส่วนมากจึงเจ็บป่วย ยาก็มีไม่พอหรือไม่มี ส่วนมากจึงไม่รักษาปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ผลก็คือล้มตายลงเป็นอันมาก 

ในที่สุดญี่ปุ่นก็เร่งจนเสร็จได้ และเริ่มเปิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) เป็นระยะทาง 415 กิโลเมตร เมื่อเปิดทางกองทัพญี่ปุ่นต้องทำพิธีทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลให้คนงานที่ตายในการสร้างทางนี้ ญี่ปุ่นคำนวณว่าในการสร้างทางรถไฟสายนี้ ทหารญี่ปุ่นต้องตายประมาณ 10,000 เชลยศึกตายประมาณ 10,000 และพวกกุลีที่จ้างเกณฑ์มาประมาณ 30,000 แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรแถลงว่าญี่ปุ่นคำนวณต่ำมาก สัมพันธมิตรคำนวณจากผู้คนที่สูญหายไปในการนี้ว่า เชลยศึกคงตายประมาณ 12,000 กุลีประมาณ 250,000

โดยทางญี่ปุ่นได้ให้ความหวังแบบคลุมเครือต่อฝ่ายไทยตั้งแต่วันแถลงการณ์ว่า

“ในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2485 จึงได้มีการประชุมหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีพันโท ไชย ประทีปะเสน และ พลตรี โมะริยะ เซจิ ผู้แทนกองทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และได้ข้อสรุปว่า กองทัพญี่ปุ่นขอเป็นผู้ครอบครองและดำเนินการใช้ทางรถไฟจนกว่าจะเสร็จสงคราม ส่วนรายละเอียดของการครอบครองภายหลังสงคราม ทางฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ยอมตกลงเป็นที่แน่ชัดจนกว่าสงครามจะเสร็จสิ้น

เมื่อสงครามยุติ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ฝ่ายสัมพันธมิตรก็เข้ามาจัดการกับผู้แพ้ รวมถึง “ทรัพย์เชลย” ซึ่งนับรวมมี “ทางรถไฟสายมรณะ”  ด้วย

ลอร์ดหลุยส์ เมาต์แบตเทน ผู้บัญชาการสัมพันธมิตรประจำตะวันออกไกล ออกประกาศข้อบังคับใหม่ทันทีหลังสงครามกับการจัดทรัพย์ของพวกญี่ปุ่นเป็น “ของกลาง” ด้วยข้อตกลง 2 ข้อ โดยผู้แทนรัฐบาลไทยในขณะนั้น พลโท ศ. เสนาณรงค์ถูกเชิญไปลงนามรับทราบ ณ เมืองแคนดี้ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 8 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488)

วันที่ 1 มกราคม 2489 และโดยผลแห่งข้อตกลงสมบูรณ์แบบนี้ ไทยต้องถูกบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่อังกฤษ ใน 4 รัฐมาเลย์ เป็นเงิน 30 ล้านบาท และยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่อังกฤษอีกเป็นเงิน 6 ล้านปอนด์ ซึ่งเทียบเป็นเงินไทยในขณะนั้นเท่ากับ 240 ล้านบาท

ภายหลังที่ผู้แทนรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามในสัญญาสมบูรณ์แบบฉบับดังกล่าวนี้แล้ว รัฐบาลอังกฤษได้แจ้งต่อรัฐบาลไทยว่า ทางรถไฟสายไทย-พม่านั้น ถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐบาลอังกฤษ ให้ประเทศไทยดูแลรักษาให้คงสภาพเดิมไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลอังกฤษจะได้พิจารณาดำเนินการอย่างใดต่อไป

รัฐบาลไทยได้พิจารณาเรื่องนี้แล้ว มีความเห็นว่า ควรเปิดการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ เพื่อขอซื้อทางรถไฟสายไทย-พม่าเสียเลยจะเหมาะสมกว่า เพื่อการตัดปัญหาต่างๆ อันจะเกิดขึ้นในภายหน้าลงโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าทางรถไฟยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของชาติอื่น โดยยังอยู่ในประเทศไทย ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นตามมาไม่เป็นที่สิ้นสุด

แต่ในเวลานั้นรัฐบาลไทยและอังกฤษต่างก็ตกอยู่ในสภาพถังแตกภาย หลังสงครามซ้ำเติมด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำฝืดเคืองอย่างหนัก แม้แต่ชาติผู้ชนะอย่างอังกฤษก็ยังต้องการเงินภายนอกมาจุนเจือความเสียหายของตนจากผลลัพธ์ของสงคราม

อังกฤษมีภาระผูกพันต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ประเทศที่ถูกใช้เป็นสมรภูมิจำเป็น (พม่า มลายา และอินโดนีเซียจึงหวังจะได้ขายทางรถไฟ ในราคาที่สูงกว่าต้นทุนจริง

ทูตอังกฤษมีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศไทยว่า ตามที่ญี่ปุ่นได้ขนวัสดุต่างๆ จาก พม่า มลายา และเนเธอร์แลนด์อิสตอินดีส [อินโดนีเซีย] มาสร้างทางรถไฟสายกาญจนบุรี-พม่า รวมทั้งรถจักรและเครื่องอุปกรณ์ ฯลฯ บัดนี้ทางรัฐบาลอังกฤษจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ 3 ประเทศนั้นๆ จึงจะรื้อขนสิ่งของเหล่านั้นไป

รัฐบาลไทยมีนโยบายจะรักษาสิทธิ์เหนือผืนดินของตนเองที่ทางรถไฟสร้างอยู่ จึงพยามซื้อคืนเสนทางรถไฟคืน โดยการกู้ยืมเงินจากธนาคารโลกเป็นเงิน 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ ซึ่งในแผนแม่บทของรัฐบาลระบุชัดเจนว่าจะนำไปใช้  “บรูณาการรถไฟ”

ขั้นแรกรัฐบาลอังกฤษได้เสนอขายในราคา 3 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ฝ่ายไทยขอให้ลดราคาลงมาตามภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น  เดือนกันยายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลอังกฤษจึงได้เสนอเรื่องขายทางรถไฟสายไทย-พม่าต่อกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยอีกครั้ง ในราคารวม 1.5 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง เป็นราคาทางรถไฟ รวมทั้งค่ารางเหล็ก ไม้หมอน รถตู้ รถจักร เครื่องมือในโรงงานและพัสดุ ในสภาพที่เป็นอยู่แต่เดิม รวมทั้งเงินที่จะต้องชำระสำหรับรถจักร รถตู้ และรางรถไฟมลายู และเครื่องจักรที่อยู่ในโรงงานกาญจนบุรี อันเป็นทรัพย์สินของเหมืองแร่บริษัท TAIPING TIN ด้วย

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2489 คณะรัฐมนตรีลงมติมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการเจรจาทำความตกลงซื้อทางรถไฟสายไทย-พม่า พร้อมทั้งเครื่องอุปกรณ์และขอให้ต่อราคาลง และให้ได้ผ่อนชำระราคาเป็นเงินบาท

หากราคาที่รัฐบาลไทยเสนอขอซื้อในชั้นหลัง ตรงกับราคาที่รัฐบาลอังกฤษเสนอขายใหม่คือ 1,250,000 ปอนด์ ส่วนการชำระเงินนั้น สำหรับทรัพย์สินของรัฐบาลมลายูและพม่า ฝ่ายไทยต้องชำระเป็นเงินปอนด์สเตอร์ลิง นอกจากนั้นชำระเป็นเงินบาท และให้ผ่อนชำระได้ตามรายการที่ 2 ฝ่ายจะได้เจรจาตกลงกัน

อนึ่ง ทางรถไฟสายไทย-พม่า เมื่อต้นปี 2489 กองทหารอังกฤษได้รื้อทางรถไฟในเขตของประเทศพม่าออก 30 กิโลเมตร และในเขตของประเทศไทยออก 6 กิโลเมตรแล้ว จึงได้เสนอขายทางรถไฟสายนี้ให้กับประเทศไทย

 

ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. “ใครเป็นเจ้าของ ‘ทางรถไฟสายมรณะ’? ญี่ปุ่นสร้าง ฝรั่งขาย ไทยซื้อ” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2563

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_61881

The post ทางรถไฟสายมรณะ อยู่ในไทย แต่ไม่ใช่ของไทย และไทย[จำต้อง]ซื้อ appeared first on Thailand News.