ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ตามรอยฝรั่งสํารวจเมืองพะเยา สมัยต้นรัชกาลที่ 6

ตามรอยฝรั่งสํารวจเมืองพะเยา สมัยต้นรัชกาลที่ 6

ชาวชนบทขณะเดินทางเข้าในตัวเมืองพะเยา ภาพถ่ายประมาณปี 2465-70 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2451 เรจินาลด์ เลอ เมย์ (Reginald le May) ชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาสยาม เพื่อรับทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษ ประจำกรุงเทพฯ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456 เขาได้รับมอบหมายให้ไปเป็นรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ และจะย้ายประจำที่เมืองลำปางในปีเดียวกัน เลอ เมย์ วางแผนออกเดินทางท่องเที่ยวหัวเมืองทางเหนือในฤดูหนาวในปลายปี 2456 นั่นเอง

เลอ เมย์ กำหนดเส้นทางท่องเที่ยวไว้โดยเริ่มต้นจากเมืองเชียงใหม่ ไปแพร่ น่าน แล้วเข้าสู่เมืองสวด (อยู่ในดินแดนลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส) เมืองเชียงราย พะเยา แล้วมาสิ้นสุดที่ลำปาง ใช้เวลากว่า 5 เดือน โดยมีช้างและม้าเป็นพาหนะในการเดินทาง

เรจินาลด์ เลอ เมย์ รองกงสุลประจำเชียงใหม่ (ภาพจาก “An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam” นสพ. White Lotus)

 

หลังการเดินทางดังกล่าว เลอ เมย์ ได้รวบรวมประสบการณ์และข้อมูลต่างๆ เขียนเป็นหนังสือชื่อ An Asian Arcady: Land and People of Northern Siam ส่วนข้อมูลที่นำเสนอข้างล่างนี้ อ้างอิงจาก “จดหมายเหตุเมืองพะเยา” (หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ, พ.ศ. 2556) ที่เกรียงศักดิ์ ชัยอรุณ เป็นผู้เรียบเรียง โดยคัดย่อมาเฉพาะในส่วนของเมืองพะเยา

ตามแผนการ เลอ เมย์ จะต้องเดินทางออกจากเมืองน่านมาที่เมืองปง (ปัจจุบันคือ อ.ปง จ.พะเยา ) เพื่อมาดูการสร้างทางรถไฟเล็กสำหรับลากไม้ของบริษัทแองโกล-สยาม ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษที่ได้รับสัมปทานป่าไม้ ในเขตป่าสงวนแม่จุน ระหว่างทางเขาได้แวะที่บ้านมางและบ้านท่าฟ้า อยู่ในเขตเชียงม่วน สมัยนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองสิบสองปันนา เขตมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และที่บ้านมาง เลอ เมย์ ได้มีโอกาสพบปะสนทนากับชาวไทลื้อและได้เห็นวัฒนธรรมหลากหลายของชาวไทลื้อที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเขาในฐานะชาวตะวันตกแต่ที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือ รอยสักตามตัวของผู้ชายไทลื้อ ซึ่งชาวไทลื้อเชื่อว่าถ้าได้สักแล้วจะเกิดความขลังและอยู่ยงคงกระพัน

หลังจากภารกิจที่บ่งเสร็จเรียบร้อย เลอ เมย์ จึงเดินทางต่อไปเมืองเชียงคำ ที่นี่เขาได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทลื้ออีกกลุ่มหนึ่งในแง่มุมต่างๆ อาทิเช่น พิธีกรรมในการคลอดลูกจะมีขั้นตอนต่างๆ ซึ่งผูกพันกับคติความเชื่อทางไสยศาสตร์ เพราะเชื่อว่า เด็กที่คลอดออกมาจะมีวิญญาณผีสิงอยู่ หมอตำแยประจำหมู่บ้าน จะต้องนำเด็กที่คลอดออกมาใส่ในกระดังแล้วนำไปวางไว้หน้าประตูเรือน จากนั้น หมอตำแยจะกระทืบเท้าลงบนพื้นบ้านดังๆ 2-3 ที เพื่อให้เด็กตกใจและร้องไห้ การที่เด็กร้องไห้หมายถึงว่า ผีได้ถูกขับไล่ออกจากตัวเด็กแล้วและเด็กก็จะมีชีวิตอยู่รอดจนเติบใหญ่…

ก่อนคณะเดินทางจะเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา ได้แวะที่บ้านแม่ใจ ขณะนั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ แต่มีพื้นที่ไร่นาอุดมสมบูรณ์ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดโรคระบาด คือ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่หมู่บ้านแห่งนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย แม้สถานการณ์จะรุนแรง แต่โรคร้ายชนิดนี้ก็ไม่ได้ระบาดไปถึงพะเยาหรือหมู่บ้านใกล้เคียงอื่นๆ เพราะเนื่องจากทางการสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยมีหน่วยงานคณะแพทย์จากสยาม (กรุงเทพฯ) มาช่วยในการรักษาผู้ป่วยและมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับชาวบ้านแม่ใจและหมู่บ้านใกล้เคียง ไม่นานนักสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

เมื่อคณะเดินทางได้ออกจากหมู่บ้านแม่ใจ ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็เริ่มเข้าสู่ตัวเมืองพะเยา เส้นทางจะผ่านหน้าวัดพระเจ้าตนหลวง แล้วเข้าสู่ตัวเมือง ทางประตูเมืองทิศเหนือ (ประตูเหล็ก) หลังจากเดินผ่านวัดพระเจ้าตนหลวงได้สักครู่เริ่มมองเห็นแนวกำแพงเมืองแต่ไกล ลักษณะกำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ ทอดยาวเป็นบางช่วงสลับกับแนวเนินดิน ส่วนทางเข้าจะเป็นประตูไม้บานใหญ่ขนาดกว้างประมาณ 9 ฟุต

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศในเมืองพะเยาตอนกลางวันเริ่มร้อนขึ้น ส่วนตอนกลางคืนก็ยังคงเย็นอยู่ ดูเหมือนว่าปีนี้ (พ.ศ. 2457) เมืองพะเยาประสบปัญหาความแห้งแล้ง หญ้าสำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์ก็เริ่มขาดแคลน พืชผลทางเกษตรได้รับความเสียหาย บ่อน้ำในเมืองสำหรับใช้ดื่มใช้กินก็แห้งขอด ความเป็นอยู่ผู้คนในเมืองต้องลำบากอัตคัด อย่างไรก็ตาม การที่เมืองพะเยาตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ผู้คนเมืองพะเยาส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นเพราะความโกรธของพระโคตะมะ ที่มีต่อพญานาคในหนองเอี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องเล่าในตำนานพระเจ้าตนหลวง

เลอ เมย์ ให้ข้อสังเกตว่า พะเยาไม่ใช่เมืองใหญ่จึงสามารถเดินทางไปมาจากทิศเหนือมาทิศใต้หรือทิศตะวันออกมาทิศตะวันตกได้ไม่เกินภายในครึ่งชั่วโมง เมืองพะเยาเป็นเมืองที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาใหม่ (อีกครั้ง) ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมเคยเป็นเมืองเก่าแก่โบราณมาก่อนแต่ถูกปล่อยทิ้งร้างไปตั้งแต่สมัยสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 จนถึงยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ราว พ.ศ. 2386

จากการสำรวจข้อมูลของ เลอ เมย์ พบว่าขณะนั้นจำนวนประชากรในเมืองพะเยาและพื้นที่รอบนอกรวมกันมีประมาณไม่เกิน 15,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการเพาะปลูกในเมืองพะเยาประสบความล้มเหลวเนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้งนานติดต่อกันหลายปี ส่งผลทำให้ผู้คนในเมืองต้องอพยพไปหาที่ทำกินแห่งใหม่และเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ประชากรในเมืองลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทางการมีแผนการคิดจะย้ายสถานที่ราชการทั้งหมดไปอยู่ที่บ้านแม่ต๋ำ ซึ่งใกล้กับแม่น้ำอิง และเมื่อย้ายไปแล้วประชาชนก็คงอพยพตาม ในที่สุดแผนการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประชาชนในเมืองไม่ยอมย้ายตามไปอยู่แหล่งทำกินแห่งใหม่

เลอ เมย์ และคณะได้ใช้เวลาอยู่ในเมืองพะเยาหลายวัน เขาไม่ละทิ้งโอกาสที่จะออกเดินสำรวจไปทั่วทั้งในตัวเมืองและปริมณฑล เช่น ไปสํารวจนอกเมือง ที่บ้านแม่ต๋ำ บริเวณชุมชนวัดศรีจอมเรือง ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยและทำการค้าของพวกพม่าและเงี้ยว สมัยนั้นกิจการค้าขายในเมืองพะเยาส่วนใหญ่จะเป็นของพวกพม่าและเงี้ยว ถือเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและสังคมสูง จะเห็นว่าช่วงที่เกิดเหตุการณ์พวกกบฏเดี๋ยวก่อการจลาจลในมณฑลพายัพ พ.ศ. 2445 พวกกบฏเงี้ยวได้รับการหนุนช่วยจากพ่อค้าเงี้ยวบางกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเสบียงอาหาร หรือยุทโธปกรณ์ ทำให้พวกกบฏสามารถบุกโจมตีเมืองต่างๆ ได้โดยง่าย

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของภาคเหนือเป็นผลเนื่องมาจากรัฐบาลสยามได้สร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึงเมืองลำปางเมื่อ พ.ศ. 2459 และในปีเดียวกันได้เริ่มสร้างถนนจากลำปางเชื่อมต่อไปยังพะเยา-เชียงราย และไปสิ้นสุดที่อำเภอแม่สาย ทำให้ค้าขายระหว่างเมืองสะดวกมากขึ้น และปริมาณการค้าก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้นทำให้ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในภาคกลางเริ่มอพยพมาค้าขายในภาคเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีบทบาททางการค้าแทนกลุ่มพ่อค้าเดิมพวกพม่า เงี้ยว จีนฮ่อ และแขก

กลุ่มพวกพ่อค้าชาวพม่าและเงี้ยวในพะเยาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อชาวจีนจากลำปางได้อพยพเข้ามาค้าขายอยู่ในตัวเมืองพะเยา ช่วงปี พ.ศ. 2460 และในระยะเวลาไม่นานนัก การค้าของชาวจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการสนับสนุนจากทางการและพวกเจ้านายฝ่ายเหนือในเมืองพะเยา อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะความขยันขันแข็งและมีหัวการค้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวจีนอย่างแท้จริง ในที่สุดทำให้การค้าของชาวพม่าและเงี้ยวที่บ้านแม่ต๋ำต้องซบเซาลง และปิดกิจการไปในที่สุด

ในวันต่อมา เลอ เมย์ ได้มีโอกาสไปแวะชมวัดพระเจ้าตนหลวง ซึ่งเป็นวัดสำคัญของเมืองพะเยามีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ ผู้คนในภาคเหนือต่างเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าตนหลวง และมักจะมานมัสการอยู่เสมอๆ ยามเมื่อมีโอกาส ขณะอยู่ในวัด เลอ เมย์ พบกลุ่มจาริกแสวงบุญกลุ่มใหญ่จากลำปางได้มานมัสการพระเจ้าตนหลวง เขาต้องรอกลุ่มจาริกแสวงบุญกลับเสียก่อนจึงจะมีโอกาสเยี่ยมชมวัดได้สะดวก

 

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_63949

The post ตามรอยฝรั่งสํารวจเมืองพะเยา สมัยต้นรัชกาลที่ 6 appeared first on Thailand News.