ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

อิทธิพล “ความสว่าง” ยามค่ำ เมื่อแรกมีไฟฟ้าในสยาม สู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวกรุงเทพฯ

อิทธิพล “ความสว่าง” ยามค่ำ เมื่อแรกมีไฟฟ้าในสยาม สู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวกรุงเทพฯ

โรงแรมโทรคาเดโร สถานบันเทิงยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ (ภาพจาก วิลาส บุนนาค 1910-2000. กรุงเทพฯ, 2000 ใน “กรุงเทพฯ ยามราตรี” (สำนักพิมพ์มติชน, 2557) หน้า 6)

ในหนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี โดยวีระยุทธ ปีสาลี ได้ศึกษาประวัติศาสตร์สังคมของคนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีข้อเสนอว่ากรุงเทพฯ ได้เข้าสู่การเป็นเมืองกลางคืนอย่างเต็มตัวเมื่อทศวรรษ 2460 โดยการศึกษาได้อาศัยกรอบแนวคิดทางมานุษยวิทยาที่ศึกษากลางคืนในฐานะที่เป็นพรมแดน (Night as Frontier) ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรที่พร้อมให้เข้ามาแสวงหาผลกำไรที่ไม่ได้แตกต่างไปจากการล่าอาณานิคม Colonization of the Night ซึ่งพบว่าทรัพยากรของประเทศไทยยามราตรีในช่วงเวลานั้นถูกสำรวจน้อยมาก

การล่าอาณานิคมยามราตรีเริ่มต้นจากหลังสนธิสัญญาเบาริงที่เป็นผลให้วิทยาการภูมิปัญญาของชาติตะวันตกทะลักทะลายกำแพงเมืองเข้ามาอย่างมหาศาล เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา เห็นได้จากที่กรุงเทพฯ แต่เดิมเป็นเมืองแห่งน้ำก็ไปเปลี่ยนเป็นเมืองบก ด้วยหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น หนึ่งในนั้นคือปัจจัยที่เกิดจากชาวต่างชาติต้องการพักผ่อนย่อนใจจึงได้เกิดการตัดถนนหนทางเพื่อสะดวกต่อการท่องเที่ยว ทำให้กำแพงเมืองเป็นสิ่งที่เกะกะ ผู้คนเริ่มสร้างบ้านเรือนตามถนนหนทาง เกิดการนำเข้าวิทยาการที่เรียกว่า “ไฟฟ้า” เข้ามาแทนการจุดไฟเพื่อให้ความสว่าง

วัดชนะสงคราม ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าวัดมีรถรางไฟฟ้าวิ่งบนถนนจักรพงษ์

แต่เดิมความสว่างเกิดจากการจุดเชื้อเพลิง ซึ่งสถานที่ที่สว่างที่สุดคือพระบรมมหาราชวัง โดยความสว่างนั้นยิ่งไกลพระบรมมหาราชวังมากเท่าใดบ้านเรือนเหล่านั้นก็ค่อย ๆ มืดลงตามลำดับ ฉะนั้นเมื่อนำเข้าไฟฟ้าเข้ามาจึงทำให้ชาวตะวันตกและชนชั้นนำเจ้านายต่างแย่งความเป็นเจ้าของสัมปทานในการให้ความสว่าง ซึ่งความสว่างจากไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวลากลางวันและเวลากลางคืนพล่าเลือนไม่ชัดเจนอีกต่อไป

การรับภูมิปัญญาจากชาติตะวันตกได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องของ “กาลเทศะ” จากแต่เดิมชาวกรุงเทพฯ ยึดบรรทัดฐานแนวคิดแบบคติไตรภูมิการเวียนวายตายเกิดในสังสารวัฎ (ชาตินี้และชาติหน้า) แต่เมื่อได้รับภูมิปัญญาจากชาติตะวันตกในเรื่องของการทำชาตินี้ให้ดีที่สุด จึงทำให้ความคิดเช่นนี้ส่งผลต่อเรื่องอื่น ๆ ที่นอกจากการทำบุญแล้วต้องรอผลในชาติหน้าเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงเรื่องของเวลาแบบมาตรฐาน (นาฬิกา) ได้ทำให้การนับเวลาเปลี่ยนไป เป็นผลให้การใช้ชีวิตหรือการใช้ชีวิตในยามค่ำคืนเริ่มเปลี่ยนไป

กอปรกับการเข้ามาของไฟฟ้าและวัฒนธรรมตะวันตกได้ทำให้เกิดกิจการใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ไปอย่างมากมายก่ายกอง

การก่อเกิดวัฒนธรรมใหม่ในยามค่ำคืน แต่เดิมชาวกรุงเทพฯ ทั้งไพร่และทาส ต่างทำงานหนักในช่วงเช้าและกลางวัน ส่วนในช่วงกลางคืนเป็นเวลานอนเพียงเท่านั้น เพื่อผ่อนคลายจากการโหมงานหนัก แต่เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลง ได้ทำให้ในช่วงเวลากลางคืนถูกส่องสว่างด้วยวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับแสงสว่างในยามค่ำคืน ไม่ว่าจะเป็น โรงบ่อนพนัน คลับสโมสร ซ่องโสเภณี สวนสาธารณะ ร้านภัตตาคาร โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนจากเวลากลางคืนจากตะวันตกดินหมายถึงเวลาเข้านอนสู่การพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้เวลากลางคืนจึงเป็นช่วงเวลาให้ชนชั้นล่างได้แสวงหากำไรด้วย การทำงานยามราตรีต่อเนื่องจากการทำงานในกลางวันเพื่อหารายได้ให้ครอบครัวตัวเองเพิ่มมากขึ้น ส่วนชนชั้นเจ้านายและขุนนางราชการอาศัยการมีทุนทรัพย์เป็นที่ตั้ง ก็สามารถสร้างกิจการในยามค่ำคืนเพื่อหารายได้อย่างมากมายดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

โรงหนังญี่ปุ่น โรงหนังในอดีต, ที่มา : หลักหนังไทย (ภาพจาก เว็บไซต์พิพิธบางลำพู http://banglamphumuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=104)

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อความสว่างส่องไปสถานที่ที่มืดมิดได้ทำให้เกิดกิจกรรมมากมายที่ส่งผลให้วิถีชีวิตทั้งในเรื่องส่วนตัวและสารธารณะเปลี่ยนไป อาทิ เรื่องของชุดนอน ชุดออกงานสังสรรค์ เป็นต้น โดยที่สังคมได้สร้างบรรทัดฐานให้คำนึงว่าอะไรเหมาะสมอะไรไม่เหมาะสม นอกจากนี้สภาวะกลางคืนได้ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป จากแต่เดิมความมืดเป็นเรื่องของสิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจ สู่การออกไปพักผ่อนย่อนใจในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นผลให้ค่านิยมต่าง ๆ ในสังคมกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้หญิงและผู้ชายสามารถถูกเนื้อต้องตัวกันในที่สารธารณะได้ (กรณีโรงภาพยนต์หรือการเต้นรำ) การออกไปรับประทานอาหารข้างนอกที่มีดนตรี การนิยมชมชอบระบำโป๊ (สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางศีลธรรมแบบเดิม) หรือแม้กระทั้งสถานะเวลากลางคืนเป็นสิ่งที่เปรียบเหมือนสวิตช์ที่เปิดตัวตนทางอัตลักษณ์ให้ออกมาจากกลางวัน ซึ่งถูกครอบงำด้วยกฏระเบียบ การทำงาน อาทิ กรณีการรักเพศ (ในสมัยนั้น) จะใช้เวลากลางคืนซึ่งเปรียบดั่งการหลุดพ้นจากการครอบงำหรือจับจ้องของสังคมแสดงตัวตนอัตลักษณ์ออกมา

การผสมกลมกลืนและการปะทะขัดแย้ง แน่นอนว่าการเกิดวัฒนธรรมใหม่ในยามค่ำคืนได้ทำให้เกิดการปะทะขัดแย้งกันของชนชั้นต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนต์ที่พวกผู้ลากมากดีก็จะซื้อที่นั่งราคาแพงเพื่อแสดงแสนยานุภาพถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้น เช่นเดียวกับกรณีการตัดถนนได้ทำให้เกิดค่านิยมการขับรถยนต์ที่ชนชั้นสูงจะขับไปตามถนนโดยวิธีเปิดประทุนรถเพื่อแสดงความมั่งมีของชนชั้นตนเพื่อมองชนชั้นล่างที่อาศัยอยู่ตามริมถนน รวมไปถึงคลับสโมสรที่จำกัดเฉพาะกลุ่มที่เป็นชนชั้นเดียวกันเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันในช่วงเวลานั้นก็ได้เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา นั่นคือ ชาวชนชั้นกลางที่ได้ประสานวัฒนธรรมต่าง ๆ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและกลายมาเป็นค่านิยมของคนกรุงเทพฯ

 

อ้างอิง :

วีระยุทธ ปีสาลี. (2557).  กรุงเทพฯ ยามราตรี เเหล่งรมณีย์เเละเภทภัยของคนกรุง สมัยรัชกาลที่ 5 – สงครามโลกครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_85258

The post อิทธิพล “ความสว่าง” ยามค่ำ เมื่อแรกมีไฟฟ้าในสยาม สู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชาวกรุงเทพฯ appeared first on Thailand News.