ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ตามรอย “สมบัติพระปิ่นเกล้า” จากแคนที่ทรงโปรด ถึงวังสีทา กลายเป็นข้อมูลหายาก

ตามรอย “สมบัติพระปิ่นเกล้า” จากแคนที่ทรงโปรด ถึงวังสีทา กลายเป็นข้อมูลหายาก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ในมุมมองของผู้สนใจศึกษาสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไปจนถึงนักสะสมที่ชื่นชอบของโบราณต่างมองว่า หนังสือและข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ความคิดเห็นของเอนก นาวิกมูล นักเขียน นักสะสม และคอลัมนิสต์ หนังสือและรูปของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าที่เข้าถึงได้ก็ยังไม่สามารถคลายปมข้อกังขาบางประการได้

เป็นที่ทราบกันว่า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับพระบวรราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่ออกพระนามกันว่า “วังหน้า” ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดแคนเป็นพิเศษ แต่จากการสืบค้นของเอนก นาวิกมูล ผู้เขียนบทความ “สมบัติพระปิ่นเกล้า” ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562 พบว่า ไม่เคยมีผู้ลงรูปแคนของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ขณะที่วังสีทา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่พระปิ่นเกล้าเคยเสด็จฯ ไปประทับ ไม่เคยมีใครพบภาพถ่าย หรือภาพลายเส้นสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ เขาคอก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่พระปิ่นเกล้าเคยเสด็จฯ ไปสร้างคอกช้าง ก็อาจพอถือว่าไม่ได้มีคนรู้จักในวงกว้างมากนัก (จะนำข้อมูลเรื่องเขาคอกมาเผยแพร่ในออนไลน์ในโอกาสต่อไป)

แคน

สำหรับเรื่องแคน เอนก นาวิกมูล เล่าไว้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 ช่วงที่ติดตามท่านทูต พิษณุ จันทร์วิทัน ไปแขวงสาละวัน (ใกล้เมืองจำปาสัก) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในค่ำวันที่ 2 มีนาคม มีการแสดงแบบลาวให้แขกดู อันปรากฏการแสดงเป่าแคนด้วย

แคนที่เห็นคืนนั้นพิเศษกว่าที่เราเคยเห็นในภาคอีสาน คือมีอันหนึ่งยาวมากๆ จนชนเพดานห้อง ผู้ให้ข้อมูลกล่าวว่า แคนนั้นเรียกกันว่าแคน 8 ศอก ซึ่งเมื่อเทียบกับมาตราวัดแบบสากลแล้วก็เท่ากับ 4 เมตร (1 ศอก เท่ากับ 50 เซนติเมตร) แคนนี้ทำให้นึกไปถึงแคนพระปิ่นเกล้าที่เซอร์จอห์น เบาริ่ง ราชทูตอังกฤษ บันทึกไว้ในหนังสือ The Kingdom and People of Siam กรมศิลปากรให้ นันทนา ตันติเวสส แปลในชื่อ “บันทึกรายวันของเซอร์ จอห์น เบาริง” กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2532

เบาริ่ง (พ.ศ. 2325-2415 อายุ 80 ปี) ราชทูตอังกฤษเดินทางเข้ามาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2398 เอนก อธิบายเนื้อหาที่เบาริ่ง กล่าวถึงไว้ว่า ภาษาอังกฤษของพระปิ่นเกล้าอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม ห้องสมุดของพระองค์มีหนังสือภาษาอังกฤษที่เลือกเฟ้นอย่างดี ในพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์มีเครื่องกลไกต่างๆ พร้อมด้วยหุ่นจำลองในสาขาต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์ มีเครื่องวัดแดด-เครื่องวัดมุม-หุ่นจำลองเรือกลไฟแบบย่อส่วน-อาวุธใหม่ๆ หลากหลายชนิด

…จากดนตรีที่มาบรรเลงตลอดเย็นวันที่เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เบาริ่งหลงใหลในความไพเราะของเครื่องดนตรีที่ประกอบด้วยไม้ซางสูงกว่า 7 ฟุต

เขากล่าวว่าพระปิ่นเกล้า “ทรงเป่าแคน และหลังจากนั้นก็พระราชทานเครื่องดนตรีดังกล่าวแก่ข้าพเจ้า-and I was much struck with the sweetness of an instrument composed of the reeds of bamboo-the central reeds above 7 feet long. The King played upon it, and afterwards presented it to me.” และในวันที่ 21 เบาริ่งก็บันทึกอีกว่าพระปิ่นเกล้าพระราชทานเครื่องดนตรีลาวประเภทเป่าให้เขา นี่แสดงว่าแคนของพระปิ่นเกล้าต้องถูกนำกลับไปอังกฤษด้วย แต่กระทั่งถึงพ.ศ. 2562 ก็ยังไม่พบข้อมูลว่า แคนดังกล่าวยังอยู่ที่อังกฤษหรือไม่

เอนก ยังเล่าว่า วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ได้ไปเที่ยวพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้ไปเห็นแคนยาวมากๆ ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ 3 เต้า คำบรรยายไม่บอกว่ายาวเท่าใด ประมาณด้วยสายตาว่าน่าจะราวๆ 3 เมตร ไม่เคยเห็นนำมาแสดงในพระที่นั่งองค์นี้มาก่อน แคนที่นำมาจัดแสดงในตู้ไม่ได้ระบุว่าเป็นของพระปิ่นเกล้าแต่อย่างใด แต่ถ้าจะให้เดา เอนกเดาว่าเป็นของพระปิ่นเกล้าอยู่ดี-ไม่น่าจะเป็นแคนของชาวบ้าน โดยให้เหตุผลว่า ปลอกรัดแคนทั้ง 3-4 ระดับที่เห็น ทำด้วยโลหะอย่างดี มีการแกะลายประดับสวยงามเกินกว่าที่สามัญชนทั่วไปจะทำได้

เมื่อสอบถามไปที่ ดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้ชำนาญการคนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ดิษพงศ์รีบโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงแล้วตอบมาทันทีว่าแคนนี้เดิมเคยจัดแสดงปะปนอยู่กับเครื่องดนตรีอื่นๆ ในห้องดนตรี พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน และเป็นของชุดเดียวกันกับที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือทเวนตี้เซนจูรี่ พ.ศ. 2451

ในปัจจุบัน (2562-กองบก.ออนไลน์) ได้ย้ายมาจัดแสดงที่ชั้นล่างของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ทว่าไม่มีประวัติหรือหลักฐานยืนยันว่าเป็นแคนของพระปิ่นเกล้าแต่อย่างใด อันที่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นชิ้นส่วนของแคนของพระปิ่นเกล้าจริงๆ มีแค่ตัวเต้าแคนชิ้นหนึ่งเท่านั้น ไม่มีไม้ซางยาวๆ ติดอยู่ด้วย เต้าแคนดังกล่าวนี้ปัจจุบันเก็บอยู่ในโกดัง ไม่ได้เอาออกมาแสดง

หนังสือและข้าวของพระปิ่นเกล้า

สิ่งของมีค่าอีกประการคือหนังสือและข้าวของพระปิ่นเกล้า ซึ่งเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่พระปิ่นเกล้าทรงสะสม หรือทรงได้รับในฐานะเครื่องราชบรรณาการ มีน้อยมากเช่นเดียวกับหนังสือ-พระบวรฉายาลักษณ์พระปิ่นเกล้า-ภาพวาด

เอนก เคยสอบถามไปถึงคุณรัชนี ทรัพย์วิจิตร ซึ่งเคยทำงานกับหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี หรือคุณชายศุภวัฒย์ จึงได้ทราบว่าหนังสือห้องสมุดพระปิ่นเกล้านั้นได้มาจากโกดังหอสมุดแห่งชาติ (ที่เก็บหนังสือสำรอง) มีตราห้องสมุดพระปิ่นเกล้าประทับอยู่เป็นสำคัญ แต่พบเพียงประมาณ 10 เล่มเท่านั้น

หนังสือที่ปนกันอยู่นอกนั้นพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นของใครกันแน่ ปัจจุบันหนังสือพระปิ่นเกล้าเก็บอยู่ที่ห้องสมุด “ปิยมหาราชรฦก” ในตึกแดง ไม่น่าเชื่อว่าห้องสมุดที่เคยเก็บหนังสือดีๆ ของพระปิ่นเกล้าจะละลายไปจนหาทางคืนกลับสภาพเดิมไม่ได้

หนังสือที่จัดแสดงอยู่ในพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ เห็นเพียงไม่กี่เล่ม คือ

พระราชนิพนธ์กลอนทรงค่อนขอดข้าราชการวังหน้า เป็นสมุดข่อยไทยดำไทยขาว
พระราชนิพนธ์กลอนแอ่วลาวเรื่องนายคำสอน เป็นสมุดไทยขาว
พระราชนิพนธ์เพลงยาวเรื่องสามชาย เป็นสมุดไทยดำ
พระราชนิพนธ์เพลงยาวเรื่องสารรัก เป็นฉบับพิมพ์ดีด
พระราชนิพนธ์สักวา เป็นฉบับพิมพ์ดีดยุคหลัง

หนังสือตำราฝรั่งแค่เล่มสองเล่ม ข้าวของอื่นๆ มีพระแท่นบรรทม พระป้าย เก้าอี้แบบฝรั่ง ภาพวาดสีน้ำมัน รูปหล่อควีนวิกตอเรีย ระนาดทุ้มเหล็ก ระนาดเอกเหล็ก ปืนใหญ่ พระแท่นราชบัลลังก์ โคมส่องนำเสด็จ ฯลฯ

วังสีทา

สำหรับวังสีทา เอนก เคยไปชมวังสีทา เมื่อ 2 เมษายน 2562 เดินทางด้วยรถจากตลาดและวัดแก่งคอยไปไม่กี่กิโลเมตรก็ถึงวัง ทำให้รู้สึกประหลาดใจมากว่า วังสีทาไม่ได้อยู่ในป่าดงพญาเย็นหรืออยู่ไกลอย่างที่เคยคิด เอนก บรรยายสภาพและเกร็ดข้อมูลวังสีทาไว้ว่า

“วังสีทาตามที่ปรากฏแก่สายตาตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ทิวทัศน์ตรงนั้นสวยงามมาก บริเวณที่เห็น มีต้นสัก มะขาม มะขามเทศ จามจุรี และไม้ต่างๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป ดูร่มรื่น ที่เคยได้ยินว่าพระตำหนักทำด้วยไม้เสื่อมสลาย จนแทบไม่เหลือ ก็ได้พบว่าทางกรมศิลปากรไปขุดแต่งบูรณะจนเห็นฐานพระที่นั่งขึ้นมาหลายจุด ไม่เรียกว่าสูญหายไปทั้งหมดเลยทีเดียว

เพียงแต่เครื่องไม้ไม่อยู่เท่านั้น

เห็นแล้วรู้สึกยินดี แต่รู้สึกเสียดายที่ได้ทราบว่าพื้นที่อันกว้างขวางแต่เดิมนั้น เมื่อไม่มีใครสนใจ เอกชนก็เข้าไปครอบครอง เหลือเป็นที่ของหลวงเพียงไม่กี่ไร่… ไม่น่าเชื่อจริงๆ

ในอินเตอร์เน็ต กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ทำรายงานเรื่องวังสีทาเอาไว้ยืดยาว ผมจะดึงมาเฉพาะที่ตัวเองสนใจเท่านั้น คือ ป้ายบอกว่าเหตุที่พระปิ่นเกล้าทรงมาสร้างวังที่นี่ก็เพราะกรุงเทพฯ อยู่ใกล้ทะเล หากทะเลาะกับฝรั่ง ฝรั่งอาจนำเรือรบบุกเข้ามาโจมตีได้ง่าย รัชกาลที่ ๔ จึงมีพระราชดำริให้สร้างราชธานีสำรอง

รัชกาลที่ 4 โปรดให้พระปิ่นเกล้าเสด็จฯ ไปนครราชสีมา ผ่านทางสระบุรี พร้อมกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ตำแหน่งสมุหพระกลาโหมในเวลานั้น…ที่บอกว่าไปกับเจ้าพระยาศรีฯ นี้น่าสนใจ แต่ผมไม่เคยผ่านตาที่ไหน ไม่แน่ใจว่าเอามาจากหนังสือเล่มใด

จากสระบุรีเดินทางโดยเรือกลไฟไปแก่งคอย แล้วขึ้นบก เดินทางผ่านดงพญาไฟตรงไปยังนครราชสีมา ต้องเสี่ยงไข้ป่า ผลการสำรวจคือนครราชสีมากันดารน้ำ ไม่เหมาะจะเป็นเมืองหลวงสำรอง แต่พระปิ่นเกล้าโปรดบ้านสีทา อำเภอแก่งคอย จึงทรงสร้างวังสำหรับแปรพระราชฐานไว้ที่นี่ ตัววังเข้าใจว่าเป็นเครื่องไม้ ภายหลังจึงผุพังหมด พร้อมกันนั้นก็ทรงใช้เขาคอกซึ่งอยู่ไม่ไกลกันเป็นที่เลี้ยงช้างด้วย เพราะตัวเขามีลักษณะเป็นวงกลม เหมือนคอก ระยะทางจากบ้านสีทาไปเขาคอกทางบกประมาณ 9 กิโลเมตร ทางแม่น้ำป่าสักประมาณ 14 กิโลเมตร”

 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดย่อและเรียบเรียงจากบทความ “สมบัติพระปิ่นเกล้า” โดย เอนก นาวิกมูล ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2562

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_48955

The post ตามรอย “สมบัติพระปิ่นเกล้า” จากแคนที่ทรงโปรด ถึงวังสีทา กลายเป็นข้อมูลหายาก appeared first on Thailand News.